การประเมินโครงการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนวัดปากประ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนวัดปากประ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ทั้งนี้ประชากรในการวิจัยประเมินโครงการครั้งนี้ จำนวน 84 คน ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครู จำนวน 8 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-6 จำนวน 38 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แบบสอบถามการประเมินโครงการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนวัดปากประ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประเมิน 2)แบบสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนวัดปากประ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง สำหรับนักเรียนเป็นผู้ประเมินและผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมิน โดยมีความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ 0.92, 0.85 และ 0.87 ตามลำดับ ทั้งนี้ทำการประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ โดยใช้ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (μ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ซึ่งผลการประเมินโครงการโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) พบว่า ในภาพรวมทุกด้านผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.37, σ = 1.10)
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.14, σ = 0.99)
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.25, σ = 0.89)
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ส่วนที่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประเมินพบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.24, σ = 0.78) ส่วนที่นักเรียนเป็นผู้ประเมินพบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.52, σ = 1.08) และส่วนที่ผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมินพบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.21, σ = 0.69)
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ถึงแม้ผลการประเมินโครงการในรายด้านจะอยู่ในระดับเหมาะสมมาก แต่ก็ยังสามารถปรับปรุงและพัฒนาให้มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด จึงควรวางแผนในการปฏิบัติงาน นิเทศ กำกับ ติดตามอย่างสม่ำเสมอเป็นระบบ เน้นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด
2. โรงเรียนควรส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาครูและนักเรียนเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การจัดอบรม การสัมมนา หรือการประชุม เป็นต้น เพื่อให้ครูและนักเรียนีการพัฒนาความรู้และพัฒนาฐานการเรียนรู้ให้พร้อมต่อการถ่ายทอดความรู้ สามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการสู่การเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. โรงเรียนควรมีการขยายผลการดำเนินงานของโครงการและพัฒนาเครือข่ายสถานศึกษาพอเพียงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการและทักษะต่างๆ ที่จำเป็น สามารถนำไปประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์
ข้อแนะนำในการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรกำหนดกิจกรรมในโครงการให้มีความครอบคลุมเหมาะสมกบความรู้ ความสามารถของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย เน้นการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน
2. ควรศึกษาการประเมินโครงการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนแกนนำทั่วประเทศ
3. ควรศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง เพื่อนํารูปแบบไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายที่กำหนด