ชื่องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี
ผู้วิจัย ธงชัย เมฆแดง
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 2 (ประชาภิบาล)
ปี พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล
2) สร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลของบุคลากรในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน 83 คน จำแนกเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 12 คน ครู จำนวน 56 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน รวมทั้งสิ้น 83 คน
เพื่อใช้ศึกษาความเป็นไปได้และการพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล การพิจารณารูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลใช้รูปแบบการอ้างอิงผู้ทรงคุณวุฒิ (Connoisseurship) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นแบบวิเคราะห์เอกสารแบบสัมภาษณ์ที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Interview) และแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x̄) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การวิเคราะห์องค์ประกอบและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า
1. การศึกษาองค์ประกอบของการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลด้วย 8 องค์ประกอบ คือ 1) บริหารมืออาชีพ 2) มีความคาดหวังต่อนักเรียนสูง 3) การสอนอย่างมีวัตถุประสงค์ 4) การมีวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน 5) องค์กรแห่งการเรียนรู้ 6) การประกันคุณภาพตรวจสอบได้และมีความน่าเชื่อถือ 7) เน้นการเรียนการสอน 8) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
2. รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี เป็นรูปแบบที่ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 8 องค์ประกอบ ซึ่งมีความเหมาะสม ถูกต้อง เป็นไปได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สอดคล้องกับกรอบแนวคิดทฤษฎีของการวิจัย
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก พิจารณารายด้านเรียงตามจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านที่ 5 การสอนอย่างมีวัตถุประสงค์ ด้านที่ 1 ผู้บริหารมืออาชีพ ด้านที่ 4 เน้นการเรียนการสอน ด้านที่ 3 มีความคาดหวังต่อนักเรียนสูง ด้านที่ 7 การประกันคุณภาพ ด้านที่ 2 การมีวิสัยทัศน์และ วัตถุประสงค์ร่วมกัน ด้านที่ 8 องค์กรแห่งการเรียนรู้ และ ด้านที่ 5 สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผลในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี มีดังนี้
1. สอนอย่างมีวัตถุประสงค์ (Purpose Teaching) เนื่องจากโรงเรียนต้องกำหนด วิสัยทัศนพันธกิจ และเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะด้านการบริหารทางวิชาการ การเรียนการสอนต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโรงเรียนและความต้องการของชุมชน ต้องมีการพัฒนาคุณภาพของครู เพื่อให้จัดการเรียนการสอนที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาระดับชาติ และระดับชุมชน
2. ผู้บริหารมืออาชีพ (Professional) เนื่องจากปัจจุบันสังคมยอมรับว่าอาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง สังคมมีความคาดหวังต่อโรงเรียนสูง ผู้บริหารและครูจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง ต้องมีความเชี่ยวชาญ และมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้โรงเรียนประสบความสำเร็จอย่างมืออาชีพ เพื่อพัฒนาโรงเรียนไปสู่ความเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิผล
3. เน้นการเรียนการสอน (Focus on Teaching and Learning) เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก ความปรารถนาของผู้ปกครองทุกคน คือ ความต้องการที่จะให้บุตรหลานมีความรู้ ความเข้าใจ มีศักยภาพ มีความสามารถทางวิชาการที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้โรงเรียนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นการเรียนการสอนที่นักเรียนสามารถนำความรู้ ความเข้าใจและความสามารถที่ได้รับจากโรงเรียนไปใช้ต่อ และมีคุณประโยชน์ต่อการเรียนตอหรือนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
4. มีความคาดหวังต่อนักเรียนสูง (High Expectation of All Learners) จากสังคมปัจจุบันที่ต้องการคนดี มีความรู้ มีภาวะผู้นำ โรงเรียนจึงเป็นความคาดหวังของสังคมว่าจะต้องผลิตนักเรียนที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ ซึ่งความสำเร็จที่ผู้ปกครองต้องการมากที่สุดคือ ความสำเร็จ ทางวิชาการของนักเรียน หรือคุณภาพของโรงเรียนที่สังคมต้องการมากที่สุดคือ การที่มีนักเรียนได้เข้าศึกษาต่อระดับสูงได้มากๆ ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว และต้องมุ่งมั่นให้นักเรียนประสบความสำเร็จทางวิชาการให้มากที่สุด
5. การประกันคุณภาพการตรวจสอบได้และความน่าเชื่อถือ (Accountability) เพราะการบริหารโรงเรียนในปัจจุบันเป็นการบริหารแบบกระจายอำนาจ โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่บริหารอย่างแท้จริง ตามระเบียบกฎหมายการบริหารโรงเรียนต้องเป็นการบริหารที่ดี มีความโปร่งใส เป็นการบริหารที่ต้องผ่านการรับรองจากองค์กรภายนอก และพร้อมจะรับการประเมินคุณภาพการตรวจสอบ โรงเรียนจะต้องทำให้สังคมมีความเชื่อมั่น เชื่อถือ ซึ่งโรงเรียนจะต้องพัฒนาตนเองเพื่อรองรับการประเมินภายนอก ต้องประกาศให้สาธารณชนยอมรับ และสร้างความเชื่อถือให้กับชุมชน
6. การมีวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน (Share Vision and Goals) เนื่องจากการกำหนดวิสัยทัศนและวัตถุประสงค์ที่ดีต้องเกิดจากการรับรู้ การร่วมกันคิดร่วมกันกำหนดซึ่งจะเป็น พันธกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ และวัตถุประสงค์ที่ทุกคนต้องการ ซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่ง ที่จะนำโรงเรียนไปสู่เป้าหมายปลายทางที่ทุกคนต้องการ
7. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Communities) โรงเรียนควรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพราะโลกยุคปัจจุบันการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่ทุกประเทศต้องจัดให้กับประชากร ของตน บทบาทของโรงเรียน จึงต้องพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานตามที่สังคมต้องการและโรงเรียนต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้ของชุมชน เพื่อบริการชุมชนด้านวิชาการ และต้องมีบทบาทในการโยงความรู้จากชุมชนเข้ามาสู่โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวมและสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย
8. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (Stimulating and Secure Learning
Environment) เพราะสภาพแวดล้อมของโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน สภาพแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะสม จะเป็นการเอื้อต่อการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี โดยต้องคำนึงถึงความสะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และสวยงาม