ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำ
ภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่น
มิตรภาพที่ ๕
ผู้วิจัย นางสุดสวาท บุญขจร
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ ๕
ปีที่ศึกษา ๒๕๖๓
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมาย ๑) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๒) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนและหลังเรียน โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ๓) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ๔) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕/๒ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ ๕ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๒๘ คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ ๑) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ ๒) แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ๓) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ภาษาไทย ๔) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของแบบฝึกเสริมทักษะ ๕) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ สถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t test
ผลการศึกษาพบว่า
๑. แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีประสิทธิภาพเท่ากับ ๙๑.๗๘/๙๐.๓๖ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่ตั้งไว้
๒. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะเรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕มีคะแนนหลังเรียนเพิ่มขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ ๐.๘๕ หมายความว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๐๐
๔. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ ระดับความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ ๔.๗๓ คิดเป็นร้อยละ ๙๔.๕๗ แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ