ชื่อเรื่อง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
โดยใช้รูปแบบ NAMPHU MODEL
ผู้ศึกษา นายสุทธิรัตน์ แช่มช้อย
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำพุ
ปีที่พิมพ์ 2564
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการสร้างนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เรื่อง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยใช้รูปแบบ NAMPHU MODEL มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินด้านบริบท เกี่ยวกับความต้องการ ความจำเป็น ความเหมาะสม ของวัตถุประสงค์ และความชัดเจนของเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า เกี่ยวกับความพร้อมของสถานศึกษา ความเหมาะสมของงบประมาณ และความเหมาะสมของกิจกรรม ของนวัตกรรม 3) ประเมินกระบวนการ เกี่ยวกับกระบวนการวางแผนการดำเนินงาน การนิเทศติดตาม และการประเมินผลของนวัตกรรม 4) ประเมินผลผลิต เกี่ยวกับระดับความพึงพอใจของนักเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองที่มีต่อการสร้างนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เรื่อง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยใช้รูปแบบ NAMPHU MODEL
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วยครูจำนวน 3 คน นักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 21 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 19 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน
ผลการประเมินนวัตกรรม
การประเมินด้านบริบท
จากผลการประเมินบริบทของนวัตกรรมพบว่า ด้านบริบทของนวัตกรรมในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ย ( x̄=4.25) ทั้งนี้ เพราะนวัตกรรมการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนโดยใช้รูปแบบ NAMPHU MODEL โรงเรียนบ้านน้ำพุ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครอง ชุมชน ที่ต้องการให้บุตรหลานได้ศึกษา เรียนรู้ การใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นผลกระทบจากภาคเกษตรกรรม และยังจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในปัจจุบันถึงอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับปัญหา และผลกระทบกับผู้ปกครอง นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่เกิดจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่ง ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายของนวัตกรรมที่สามารถปฏิบัติได้ชัดเจน
การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า
จากผลการประเมินปัจจัยนำเข้าพบว่า ด้านปัจจัยนำเข้าของนวัตกรรมในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ย (x̄=4.45) ทั้งนี้ เพราะครู บุคลากร และผู้รับผิดชอบนวัตกรรมมีความรู้ ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านโครงงานคุณธรรมซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสามารถใช้พื้นที่ วัสดุ อุปกรณ์ ได้ดี และใช้จ่ายงบประมาณตามความต้องการที่จำเป็นอย่างสูงสุด
การประเมินด้านกระบวนการ
จากผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ด้านกระบวนการของนวัตกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ย ( x̄=4.20) ทั้งนี้เพราะโรงเรียนตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม ได้กำหนดการกระบวนการสร้าง และใช้นวัตกรรมผ่านแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา มีการวางแผนและกำหนดแนวทางพร้อมทั้งประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงาน การจัดกิจกรรมต่างๆ ให้คณะทำงานได้ทราบอย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่างๆทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสามสถาบันทางสังคมของไทย คือ บ้าน วัน โรงเรียน (บวร) ร่วมกันสนับสนุนให้งานดำเนินไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลทุกขั้นตอน เมื่อพบข้อบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ จะมีการนำข้อบกพร่องมาปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาต่อไป
การประเมินด้านผลผลิต
จากผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ด้านผลผลิตของนวัตกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ย ( x̄=4.38) เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการจัดกิจกรรมของนวัตกรรมในรูปแบบโครงงานคุณธรรมที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
การประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อนวัตกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (x̄=4.52) ทั้งนี้เนื่องมาจากนักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการ ความสนใจ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักเรียน เช่นกิจกรรมโครงงานคุณธรรมปลูกผักไม่ปลูกพิษ วิถีชีวิตแบบพอเพียง กิจกรรมประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ กิจกรรมใบตองรองอาหาร กิจกรรมค่ายพฤกษศิลป์ (ระบายสีถุงผ้าด้วยสีธรรมชาติจากดอก และใบ ของพืชนานาชนิด) กิจกรรมจิตอาสารณรงค์ลดขยะ ลดโลกร้อน กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ได้ทำงาน กิจกรรมร่วมกันอย่างมีความสุข
การประเมินความคิดเห็นครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตนของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ( x̄=4.30) และผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยมีเหตุผลมาจาก นวัตกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโรงเรียนบ้านน้ำพุ ทุกขั้นตอน ครู
คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และพระภิกษุสงฆ์ มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้นักเรียนได้พัฒนาพฤติกรรมเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง
การประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อคุณภาพนักเรียนตามนวัตกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโรงเรียนบ้านน้ำพุ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (x̄ =4.42) และผ่านการประเมิน โดยมีเหตุผลมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองของนักเรียน เริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักรับรู้ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ทั้งครอบครัวห่างไกลจากพฤติกรรมการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรในชีวิตประจำวันส่งผลให้ผู้ปกครอง นักเรียน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นพฤติกรรมเชิงบวก เช่น การยอมรับที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาทดแทนการใช้สารเคมีมากขึ้น ผู้ปกครองและนักเรียนมีพฤติกรรมเชิงบวกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเต็มใจ