ชื่อเรื่อง ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้วยกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ประกอบกิจกรรมตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้วิจัย นางสาวอัสมะ หมะหนังเด็น
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การเขียนเชิงสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการเขียนขั้นสูงที่ต้องอาศัยความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์สนับสนุนและเป็นเงื่อนไขการเขียนให้มีคุณค่า เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะการเขียนและมีกระบวนการคิดปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์ แต่สภาพการจัดการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้ จึงมีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ด้วยกิจกรรมกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ประกอบแนวคิด โดยใช้สมองเป็นฐาน ให้บรรลุผลตามเกณฑ์ร้อยละ 70 2) พัฒนาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้เป็นไปตามเกณฑ์ร้อยละ 70 3) ศึกษาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) ศึกษาความสัมพันธ์ของการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 24 คน โรงเรียนเทศบาล ๕ (บ้านตลาดเก่า) เครื่องมือที่ใช้ในวิจัย มี 7 ชนิด ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ประกอบกิจกรรมตามแนวคิดสมองเป็นฐาน เรื่อง การเขียนเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 4 แผน มีความคิดเห็นเท่ากับ 4.65 2) แบบทดสอบความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เป็นแบบอัตนัย จำนวน 4 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.97 3) แบบทดสอบความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83 4) แบบวัดแรงจูงใจ ใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83 5) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนที่ใช้คำถามแบบมีโครงสร้าง และไม่มีโครงสร้าง 6) แบบสัมภาษณ์นักเรียน และ 7) แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ผลการวิจัยปรากฏว่า
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ประกอบกิจกรรมตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน มีความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ร้อยละ 78.13 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ร้อยละ 70
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ ร้อยละ 80.63 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ร้อยละ 70
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ โดยรวมอยู่ในระดับ มาก
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ สัมพันธ์กันทางบวกอยู่ในระดับสูงโดยสรุป การจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD ประกอบกิจกรรมตามแนวคิดสมองเป็นฐาน ส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้บรรลุผล จึงควรส่งเสริมให้ครูนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทผู้เรียนต่อไป