ชื่อเรื่องการประเมิน การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โรงเรียนชุมชนวัดโขดเขมาราม(ประชาประเสริฐวิทย์)
ปีการศึกษา 2563
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวอรุณีย์ จันทร์เสวก
ปีที่ประเมิน 2563
การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชุมชนวัดโขดเขมาราม (ประชาประเสริฐวิทย์) ปีการศึกษา 2563 มีวัตถุประสงค์การประเมินเพื่อประเมินสภาพแวดล้อม (Context) ปัจจัยเบื้องต้น (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 260 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive selection) ประกอบด้วย ครูผู้สอนนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 - ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 13 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่รวมผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนครู) ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 120 คน และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 120 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามลักษณะแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 5 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามด้านสภาพแวดล้อม เพื่อทราบเกี่ยวกับความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ การสนองต่อปัญหา ความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามด้านปัจจัยเบื้องต้น เพื่อทราบระดับความเหมาะสมเกี่ยวกับความพร้อมและความเพียงพอของบุคลากร งบประมาณ สื่อและเครื่องมือ ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ อาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม รูปแบบของกิจกรรมและการบริหารจัดการ ฉบับที่ 3 แบบสอบถามด้านกระบวนการ เพื่อทราบระดับความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานของโครงการเกี่ยวกับการวางระบบการบริหารจัดการและการวางแผนการดำเนินงาน การดำเนินงาน การนิเทศ กำกับติดตามและประเมินผล การปรับปรุงและพัฒนา ฉบับที่ 4 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับคุณภาพของนักเรียน และฉบับที่ 5 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินโครงการ โดยแบบสอบถามฉบับที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 , 0.91 , 0.95 , 0.90 และ 0.93 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x̄ ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชุมชนวัดโขดเขมาราม (ประชาประเสริฐวิทย์) ปีการศึกษา 2563 มีดังนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านความต้องการจำเป็น อยู่ในระดับมาก และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านความเป็นไปได้ของโครงการ อยู่ในระดับมาก ก่อนการดำเนินโครงการทั้งโดยภาพรวมและรายข้อ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านบุคลากร อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านการบริหารจัดการ อยู่ในระดับมาก และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านงบประมาณ อยู่ในระดับมาก ก่อนการดำเนินโครงการทั้งโดยภาพรวมและรายข้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3. ด้านกระบวนการของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการดำเนินงาน อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านการวางระบบการบริหารจัดการและการวางแผนการดำเนินงาน อยู่ในระดับมาก และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การปรับปรุงและพัฒนา อยู่ในระดับมาก ระหว่างการดำเนินโครงการทั้งโดยภาพรวมและรายข้อ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ ที่กำหนด
4. ด้านผลผลิตเกี่ยวกับคุณภาพของนักเรียน ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนทุกคนได้รับการส่งเสริมให้มีทักษะชีวิตและมีความสามารถในการปรับตัว อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ นักเรียนได้รับการพิทักษ์ คุ้มครองและดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงทันเวลาและถูกวิธีอยู่ในระดับมาก และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนได้รับการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างรอบด้าน อยู่ในระดับมาก หลังการดำเนินโครงการทั้งโดยภาพรวมและรายข้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
5. ด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินโครงการ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเต็มตามศักยภาพให้สมบูรณ์ ทั้งอารมณ์ สังคมและสติปัญญา อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้บริหารมีความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ มีความมั่นใจในตนเอง หลังการดำเนินโครงการทั้งโดยภาพรวมและรายข้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด