ชื่อผลงาน การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน เชิงวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย กชกานต์ เทพช่วย
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษา สภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3.1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ก่อนเรียนและหลังเรียน 3.2) เปรียบเทียบทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ก่อนเรียนและหลังเรียน และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จำนวน 32 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามความคิดเห็นและความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ จำนวน 22 แผน 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านเชิงวิเคราะห์ แบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 5) แบบทดสอบวัดทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ แบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ 1) ค่าประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะโดยวิธีการหาค่าร้อยละ 2) เปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเปรียบเทียบคะแนนทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ จากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยวิธีการทดสอบค่าที (t-test แบบ Dependent Samples) และ 3) ประเมินความพึงพอใจ โดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย
1.1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความต้องการให้ครูมีความรู้ในเนื้อหาที่สอน ครูนำเทคนิค และวิธีการสอนมาใช้ในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันสรุปความคิดเห็นภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตย ส่งเสริมให้นักเรียนค้นหาความรู้ และเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ที่มีเนื้อหา รูปแบบและสีสันเหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน นักเรียนมีความต้องการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงและความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องการ ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นำเสนอโดยการพรรณนาความ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นรูปแบบที่ใช้ขั้นตอนวิธีการที่ดี ประกอบด้วย การทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้และวิธีการต่าง ๆ ไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งตรงกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
1.2 ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษา พบว่า เห็นด้วยที่จะนำกิจกรรมการสอนอ่าน ซึ่งวิธีการสอน มีขั้นตอนการสอนอ่านที่ใกล้เคียงกัน มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการอ่านที่ได้ประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การพัฒนาการอ่านของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงได้มีความเห็นที่จะนำมาบูรณาการขั้นตอนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของนักเรียน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยตนเองและรูปแบบโมเดล ซิปปา (CIPPA Model) เทคนิค 5Ws1H เทคนิคการตั้งคำถาม กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน หรือ 5 STEPs มาประยุกต์กระบวนการให้เหมาะสมกับการพัฒนาทักษะการอ่านให้กับนักเรียน
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมีชื่อว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ทบทวนความรู้เดิม (Activating) ขั้นตอนที่ 2 แสวงหาและเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม (Seeking) ขั้นตอนที่ 3 แลกเปลี่ยนความรู้และสรุปความรู้ (Interchanging) และ ขั้นตอนที่ 4 ประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์ (Applying) และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีความเหมาะสมระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.29
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ของนักเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ASIA MODEL เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.69