ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
ผู้ประเมิน ว่าที่ร้อยตรี อนิรุทธิ์ อับดุลลากาซิม
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 ใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ซึ่งเป็นแนวคิดของแดเนียล สตัฟเฟิลบีม (Daniel Stufflebeam) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการประเมิน ดังนี้
1) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านบริบทและสภาพแวดล้อมของวัตถุประสงค์โครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
2) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากรในการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
3) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านกระบวนการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
4) เพื่อประเมินผลผลิตโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรีเขต 2
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ มีจำนวน 292 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 36 คน นักเรียนโรงเรียนสุเหร่าเขียว จำนวน 242 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนสุเหร่าเขียว จำนวน 14 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า5 ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้เป็นการคำนวณหาผลลัพธ์ด้วยการแจกแจงความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (x̄) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า ด้านบริบทและสภาพแวดล้อม ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับความเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับกลยุทธ์ของโรงเรียน นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงศึกษาธิการ
ด้านปัจจัยนำเข้าโครงการ พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยในการดำเนินการโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านอาคารสถานที่ เป็นด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ทั้งนี้เพราะ ห้องสมุดมีแสงสว่างเพียงพอ และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่านหนังสือ
ด้านกระบวนการดำเนินโครงการ พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า กิจกรรมที่ดำเนินการตามโครงการมีความเหมาะสม มีการยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนวิธีการและระยะเวลาการจัดกิจกรรมในโครงการตามความเหมาะสม และมีการประชุมครู และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ด้านผลผลิตโครงการ พบว่า ผลการดำเนินงานด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนยืมหนังสือ วารสาร จากห้องสมุดกลับไปอ่านที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ นักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนสุเหร่าเหร่าเขียว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 เป็นรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด