ชื่อเรื่อง : รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้
เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร
จังหวัดหนองบัวลำภู
ชื่อผู้ศึกษา : นายณัฏฐ์ณชัย เบี้ยวเก็บ
สถานศึกษา : โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
ปีที่ศึกษา : 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินงานประกันคุณภาพในสถานศึกษาและความต้องการการพัฒนาบุคลากร เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (หนองบัวลำภู) 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู 3) เพื่อทดลองใช้และประเมินรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู 4) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู การวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ การวิจัยระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินงานประกันคุณภาพในสถานศึกษาและความต้องการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (หนองบัวลำภู) จำนวน 63 คน เพื่อศึกษาสภาพและความต้องการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสานศึกษาและความต้องการการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (หนองบัวลำภู) ด้านคุณภาพของผู้เรียน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การวิจัยระยะที่ 2 สร้างรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการสร้างรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานหัวหน้าระดับชั้น หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ หัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และครูรับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษา รวมจำนวน 33 คน ซึ่งใช้การสนทนากลุ่ม เพื่อรวบรวมข้อมูล และกำหนดกรอบการสร้างรูปแบบ ซึ่งสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับหลักการ และแนวทางการสร้างรูปแบบ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน สำหรับประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบ การวิจัยระยะที่ 3 ทดลองใช้และประเมินรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู โดยทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ กับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย (Try out) จำนวน 3 โรงเรียน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม และกลุ่ม
ผู้ประเมินผลหลังการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ จำนวน 35 คน เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจ ทักษะในการดำเนินงาน ทัศนคติ และความ
พึงพอใจในการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ และการวิจัยระยะที่ 4 ศึกษาผลการใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและ การสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยนำรูปแบบไปใช้กับโรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริหารโรงเรียนสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 157 คน เพื่อประเมินความพึงพอใจหลังจากได้ใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามสภาพปัญหาการดำเนินงาน 2) แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ 3) แบบวัดความรู้ความเข้าใจ 4) แบบประเมินทักษะ 5) แบบประเมินทัศนคติ 6) แบบประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 7) แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 8) แบบบันทึกผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา และ 9) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสถิติค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (หนองบัวลำภู) มีปัญหาในด้านคุณภาพของผู้เรียน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยโรงเรียนมีความต้องการคำแนะนำที่ชัดเจน และการกำกับ ดูแล ติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานเขตพื้นการศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 ต้องการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพในสถานศึกษาและต้องการให้มีการประเมินผลจากสำนักงานเขตพื้นการศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 และมีการสะท้อนผลจากการประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2. รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู ครอบคลุมถึง หลักการ ประกอบด้วยการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายการทำงาน การพัฒนาต่อเนื่อง การบูรณาการ หลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดี และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ กระบวนการประกอบด้วย การวางแผนการปฏิบัติจริง การตรวจสอบและประเมินความก้าวหน้า การปรับปรุงและต่อยอดสู่วิธีที่ดีที่สุด รูปแบบที่ใช้คือรูปแบบบันได 10 ขั้น (10 steps Models) ประกอบด้วย บันไดขั้นที่ 1 การเตรียมความพร้อม (Preparation stage) บันไดขั้นที่ 2 กำหนดประเด็นปัญหา (Hypothesis Formulation) บันไดขั้นที่ 3 แลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge sharing) บันไดขั้นที่ 4 สร้างความรู้และตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ สกัดความรู้ที่อยู่ภายใน (Tacit Knowledge)
บันไดขั้นที่ 5 สร้างผลงานที่เป็นวิธีการปฏิบัติอย่างมีระบบ (How to) บันไดขั้นที่ 6 ประยุกต์ใช้ความรู้ (Knowledge Appleton) บันไดขั้นที่ 7 ส่งเสริมเติมความรู้ (Promote) บันไดขั้นที่ 8 ประเมินผลงานและสรุปผล (Evaluate) บันไดขั้นที่ 9 ประเมินค่านิยม (Value) บันไดขั้นที่ 10 เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ (Social Service Activity) และ ผลจากการประเมินความเหมาะสม และการตรวจสอบความเป็นไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู มีความเหมาะสม และมีความเป็นไปได้ทุกองค์ประกอบ
3. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู โดยทดลองใช้ในโรงเรียน จำนวน 3 โรงเรียน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาก่อนและหลังการใช้รูปแบบแตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังใช้รูปแบบมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าก่อนใช้ กลุ่มตัวอย่างมีทักษะในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาอยู่ในระดับมาก กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาอยู่ในระดับมากที่สุด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อรูปแบบอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการศึกษาการใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวคือ หลังจากนำรูปแบบไปทดลองใช้แล้ว พบว่า บุคลากรที่ทำหน้าที่นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ผู้วิจัยจึงนำรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสร้างความรู้ เพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มาใช้ในโรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จังหวัดหนองบัวลำภู ผลการใช้รูปแบบ พบว่า สถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา หลังการใช้รูปแบบมีค่าคะแนนสูงกว่าก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการใช้รูปแบบสูงขึ้นว่าก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผู้บริหารสถานศึกษา ครู-บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจต่อการการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ทำหน้าที่นิเทศ ติดตามตรวจสอบ และประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด