ชื่อเรื่อง รูปแบบการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3
ผู้ศึกษา นายวิริยะ ยศนำ
ปีการสึกษา 2563
บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือ 1) เพื่อศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการ การมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 2) เพื่อศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมในดำเนินงานการการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice) และ3) เพื่อสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยมีขั้นตอนการดำเนินการศึกษาเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพ ปัญหาและความต้องการ การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ระยะที่ 2 ศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ของโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice) และระยะที่ 3 สร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ระยะที่ 1 คือ คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 จำนวน 50 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 2 คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูที่รับผิดชอบงานด้านระบบประกันคุณภาพภายใน จำนวน 2 คน และประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 คน รวม 6 คน ระยะที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้คำปรึกษาในการร่างรูปแบบการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 จำนวน 8 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน ครูผู้รับผิดชอบงานด้านระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 2 คน หัวหน้างานวิชาการ จำนวน 1 คน ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 2 คน รวม 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 2 ชนิด คือ แบบสอบถามสภาพและปัญหาและความต้องการ การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .368 - .907 และมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามอยู่ที่ .98 และแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างสถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
1. สภาพปัจจุบันการมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับ ดังนี้ ด้านการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา และด้านการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาที่มุ่งคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐาน ตามลำดับ
2. ปัญหาการมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับ ดังนี้ ด้านการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ด้านการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา และด้านการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาที่มุ่งคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐาน ตามลำดับ
3. ความต้องการ การมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 คือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานควรได้รับความรู้ความเข้าใจ เรื่อง การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานควรมีความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานควรมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผลการประเมินของสถานศึกษาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อนำผลมาปรับปรุง พัฒนาการศึกษาให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
4. แนวทางการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice) ประกอบด้วย
4.1 การประกันคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice) 14 องค์ประกอบ
4.2 จุดเด่น จุดควรพัฒนา ด้านปัจจัย กระบวนการและผลผลิตของ สถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice) ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
4.3 การมีส่วนร่วม 3 ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วมการวางแผน การมีส่วนร่วมการปฏิบัติและการมีส่วนร่วมการประเมินผล การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 8 ประเด็น ได้แก่ กำหนดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา การจัดระบบบริหารและสารสนเทศการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา การจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดและหลักการดำเนินงานพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาที่มีการปฏิบัติดีประสบผลสำเร็จนั้นสถานศึกษาอาศัยแนวคิดตามวงจรคุณภาพ PDCAS การวางแผน (Plan) การปฏิบัติงาน (DO) การติดตาม ตรวจสอบ (Check) การพัฒนาและปรับปรุง (Act) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing)
5. รูปแบบการมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดเขาน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ คือ 1) การมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 2) การมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 3) การมีส่วนร่วมในการจัดระบบการบริหารและสารสนเทศ 4) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา5) การมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา 6) การมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 7) การมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายใน และ 8) การมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความมีเป็นประโยชน์ของรูปแบบดังกล่าว พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ