บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี มี 3 ระยะ คือ
1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการเรียนรู้ สำหรับเด็กออทิสติก
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี โดยการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของการบริหาร วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการสัมภาษณ์ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง จำนวน 15 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา 2) สร้างรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี โดยการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้ และนำข้อมูลจากระยะที่ 1 มายกร่างรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงพินิจ (Face Validity) แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 17 คน ตรวจสอบความความเป็นไปได้ ความมีประโยชน์ ความเหมาะสม และความถูกต้อง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการประเมิน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบประเมิน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี โดยดำเนินการตามรูปแบบบและมีการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติ โดยผู้บริหาร ครู จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบนิเทศ ติดตาม และประเมินผล ให้ครูประจำชั้นบันทึกผลการพัฒนาผู้เรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล จำนวน 18 คน และให้ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง จำนวน 15 คน ประเมินความพึงพอใจของรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี พบว่า องค์ประกอบการบริหารการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) การวางแผน (Plan) 2) การจัดองค์กร (Organize) 3) การดำเนินการ (Do) 4) การควบคุม (Control) 5) การแก้ไขปรับปรุง (Act) และ 6) การรายงาน (Report) หรือ PODCAR ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง ตามองค์ประกอบที่ทำการศึกษา พบว่า มีการสร้างการรับรู้ การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปี และกำหนดใช้การสอนแบบมีโครงสร้างผนวกกับกระบวนการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มโดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ปัญหาที่พบ คือ ครูขาดความเข้าใจทำให้การจัดการเรียนรู้ การบันทึกผลการเรียนรู้ และการประเมินผลไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง ไม่มีการสรุปผลและนำข้อเสนอแนะจากผู้นิเทศมาปรับปรุงแก้ไข รวมถึงไม่มีการรายงานผลสอนแบบมีโครงสร้าง ส่วนแนวทางการบริหาร ควรสร้างการรับรู้อย่างถูกต้องให้กับผู้เกี่ยวข้องโดยจัดทำเป็นคู่มือ หรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีการนิเทศ ติดตามและประเมินผล รวมถึงการสนับสนุนสื่อและเทคนิคการสอน ให้มีการนิเทศ ติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดการพัฒนา และรายงานผลการจัดการเรียนรู้เป็นรายบุคคล รายห้องเรียน และภาพรวมของสถานศึกษา รวมถึงประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
2) ผลการสร้างรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี พบว่า รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก ประกอบด้วย 1) หลักการและแนวคิด 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการดำเนินงาน 4) ปัจจัยสนับสนุน และ 5) การนำรูปแบบไปใช้ มีผลการประเมินรูปแบบในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินคู่มือการใช้รูปแบบ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้างสำหรับ
เด็กออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี พบว่า 1) ผลการนิเทศ ติดตาม
และประเมินผล ครั้งที่ 1 อยู่ในระดับมาก ครั้งที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด และมีผลต่างสูงขึ้นในทุกด้าน 2) ผลการพัฒนาผู้เรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หลังการจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง ผู้เรียนผ่านการประเมินจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม คิดเป็นร้อยละ 88.89 3) ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง สำหรับเด็กออทิสติก
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
คำสำคัญ: รูปแบบการบริหาร การจัดการเรียนรู้แบบมีโครงสร้าง Structured Teaching เด็กออทิสติก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี