ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการคิด
วิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย คนึงนิจ พรมลา
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมีเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) เปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สอนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี เพื่อส่งเสริมความสามารถ
ด้านการคิดวิเคราะห์ ก่อนเรียนและหลังเรียน และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการสอนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราษีไศล ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวนนักเรียน 34 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบประเมินความสอดคล้องของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 4) แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ 5) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ สถิติที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้นี้มีชื่อเรียกว่า ENACEA Model ซึ่งมีองค์ประกอบ
5 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และ การวัดและประเมินผล โดยมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement step : E) 2) ขั้นสร้างความรู้ (Native Knowledge Step : N) 3) ขั้นคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking Step : A) 4) ขั้นสรุปความรู้ (Conclusion Step : C) 5) ขั้นประเมินผล (Evaluation Step : E) และ 6) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Application Step : A) และค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เท่ากับ 85.54/83.89 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนมีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ 80%
อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเคมี หลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเคมี
หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ 80% อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมีเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด