ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โรงเรียนวัดเซ่าสิงห์
ผู้รายงาน นางสาวปาณิสรา น้อยศรี
ปี ปีงบประมาณ 2563
บบทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี วัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการส่งเสริม การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ ด้วยรูปแบบซิปป์ ประกอบด้วยการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ 2) เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชนโรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ ในการประเมินครั้งนี้กำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 155 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9 คนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน นักเรียนจำนวน 61 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 61 คน และผู้นำชุมชนจำนวน 17 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินกำหนดไว้ 2 ลักษณะ ประกอบด้วยแบบสอบถาม ที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 1 ฉบับ และแบบบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการตรวจสอบคุณภาพแบบสอบถาม ได้ค่าความเชื่อมั่น .88 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการประเมินได้ข้อสรุปดังนี้
ผลการประเมิน
โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี พบผลการดำเนินการได้ข้อสรุปดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน โดยใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) พบผลการประเมิน ดังนี้
ด้านสภาพแวดล้อม (context) โดยภาพรวมพบว่าความต้องการพัฒนาและความจำเป็นของโครงการ ตลอดจนความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาเห็นว่ากิจกรรมในโครงการสามารถส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาโรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ โดยการสื่อสารทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบตลอดจนการบริหารแบบมีส่วนร่วมที่มีแนวคิดพื้นฐานมาจากความเชื่อเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความต้องการพื้นฐาน ความคิดเกี่ยวกับความเชื่อของการพัฒนาสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุตรหลาน โดยใช้รูปแบบของการตัดสินใจ การสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม ตลอดจนความเข้าใจในการดำเนินชีวิตตามสถานภาพการทำงานที่แตกต่างกัน
ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยภาพรวมของการดำเนินการโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชนโรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด จากความมุ่งมั่นของครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาตลอดจนผู้ปกครองและผู้นำชุมชน ที่มีกลยุทธ์การบริหารที่มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมภาคภูมิใจ ร่วมปฏิบัติตามที่วางแผนการดำเนินงาน ทั้งนี้มีส่วนที่ควรคำนึงถึง คือการวางแผนการจัดหางบประมาณมารองรับกิจกรรมเพิ่มเติมตามแนวคิดใหม่จากการร่วมคิด ซึ่งอาจจัดหางบประมาณโดยรับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกเพิ่มขึ้น
ด้านกระบวนการ (Process) ผลการประเมินกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการ การรับรู้สู่การปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับมากและผลการประเมินพบกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 6 ด้านประกอบด้วย 1) การอบรมเลี้ยงดู 2) การสื่อสาร 3) การอาสาสมัคร 4) การเรียนรู้ที่บ้าน 5) การตัดสินใจและ6) การร่วมมือกับชุมชน ซึ่งผลการประเมินกระบวนการแต่ละด้านอยู่ในระดับมากถึงระดับมากที่สุด ปัญหาที่พบคือด้านการสื่อสารควรเป็นการสื่อสารสองทาง ให้บุคลากรภายในและบุคคลภายนอกตลอดจนองค์กรสนับสนุนทุกภาคส่วน มีโอกาสเสนอแนวทางความคิดการพัฒนาได้อย่างหลากหลายช่องทาง
ด้านผลผลิต (Output) ของโครงการ พบว่าโรงเรียนวัดเซ่าสิงห์มีความสามารถในการบริหารจัดการศึกษาเป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจตลอดจนสามารถปฏิบัติกิจกรรมตามแผนที่กำหนดสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีข้อมูลพื้นฐานเพื่อการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนอย่างชัดเจน ซึ่งมีการประเมินผลกิจกรรมอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง เกิดการกระตุ้นนักเรียนได้ตระหนัก ขยันเรียนรู้ มีกำลังใจส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับโรงเรียนของนักเรียนสูงขึ้น มีการพัฒนาขึ้นจากปีการศึกษาที่ผ่านมา ที่สำคัญครูภูมิปัญญาท้องถิ่นจะมีบทบาทเป็นสื่อแห่งความรักความศรัทธาและความเคารพนับถือ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการ ด้านศึกษาดำเนินไปตามจุดมุ่งหมาย คือเกิดคุณภาพและมาตรฐานกับตัวนักเรียนสืบไป
2. ผลลัพธ์จากโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน มีดังนี้
2.1 ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน พบว่า โรงเรียนวัดเซ่าสิงห์เกิดมิติการประสานความร่วมมือของครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนและผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ช่วยขับเคลื่อนให้การบริหารจัดการศึกษาดำเนินไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจของโรงเรียนและความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนจึงได้รับการยอมรับจากชุมชน ชุมชนรักและหวงแหนสถานศึกษา ซึ่งส่งผลให้ผู้ปกครองและชุมชนสนับสนุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาการศึกษาและให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยความภาคภูมิใจ
2.2 ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา และผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขที่ร่มรื่นสวยงาม
2.3 ผลที่เกิดขึ้นกับครู ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้สึกที่ดีและมีขวัญและกำลังใจ มีทรัพยากรในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอกับการจัดการเรียนรู้ สามารถใช้ความรู้ความสามารถเกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ เกิดขวัญกำลังใจในการทำงานและงานมีประสิทธิภาพ
2.4 ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนและผู้ปกครอง พบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนในการจัดการศึกษาถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น โรงเรียนวัดเซ่าสิงห์มีแนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ในท้องถิ่น วางแผนจัดเวลาเรียนของนักเรียนในการเชิญวิทยากรในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน สาระความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดผลดีทั้งต่อโรงเรียนที่ได้บุคลากรเพิ่ม ส่วนผู้ปกครองย่อมภาคภูมิใจที่ได้สอนบุตรหลานในโรงเรียน รวมถึงนักเรียนจะมีความเคารพและนับถือในตัวผู้ปกครองในบทบาทผู้นำทางวิชาการเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
3. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและจุดที่ควรพัฒนาของโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้นำชุมชน มีดังนี้
3.1 ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เมื่อให้แนวทางการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงเรียนร่วมกับผู้ปกครองและผู้นำชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นรูปแบบการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดเซ่าสิงห์ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นสามารถสรุปเป็นเอกลักษณ์ของการดำเนินโครงการได้ 7 ประการ ประกอบด้วย 1) ความศรัทธาความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองและชุมชนเกิดได้จากการมีส่วนร่วมทีมีโอกาสเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมกัน 2) การร่วมปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลายส่งผลให้เกิดการฝึกตนแต่ละคนให้เป็นคนใจกว้างและมีจิตสาธารณะ 3) ข้อเสนอและแนวทางของมติส่วนรวม มีความสำคัญที่จะต้องนำมาปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความตระหนักไม่วางเฉยและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ 4) การวิเคราะห์สภาพชุมชนให้ลึกซึ้ง เพื่อสำรวจค้นพบจุดเด่น จุดด้อยเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาในองค์รวมให้สำเร็จไปพร้อมกันทั้งโรงเรียนและชุมชน 5) ผู้นำต้องมีภาวะผู้นำในการหลีกเลี่ยงการโต้แย้งที่ไร้เหตุผล และยึดมั่นทักษะการประนีประนอม พร้อมสรุปด้วยครรลองประชาธิปไตย 6) ผู้นำที่มีพฤติกรรมอ่อนน้อมถ่อมตนวางตัวเรียบง่าย เป็นบุคลิกภาพที่จำเป็นสำหรับการทำงานเป็นหมู่คณะ 7) การสร้างและพัฒนาค่านิยมการมีส่วนร่วมด้วยสัมพันธภาพและบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกัน จะทำให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพ
3.2 ข้อเสนอแนะในการพัฒนา เกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน สรุปได้ดังนี้ 1) ปัญหาสำคัญของการดำเนินการโครงการหรือการปฏิบัติกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของงบประมาณที่จำกัด 2) ผู้บริหารโรงเรียนควรใช้เครือข่ายชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา 3) ควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูณาการในการจัดการเรียนการสอนของครู ให้มีแหล่งค้นคว้าสำหรับนักเรียนที่หลากหลาย 4) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนควรจัดเวลาเรียนให้มากพอสำหรับการเรียนรู้โดยภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ในจังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดใกล้เคียง สอดคล้องกับการบูรณาการความรู้แบบองค์รวม