บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) 2) เพื่อศึกษา ความต้องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) 3) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามรูปแบบการบริหาร PDCA โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) 4) เพื่อศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาตามรูปแบบการบริหาร PDCA โรงเรียนวัดกุฎีลาย( อินมณีประชารัฐบำรุง) ประชากรประกอบด้วย 1) ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 7 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน 3) เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 9 คน กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษางานวิชาการ จำนวน 5 คน คณะกรรมการที่ปรึกษางานงบประมาณ จำนวน 5 คน คณะกรรมการที่ปรึกษางานบุคลากร จำนวน 5 คน คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารงานทั่วไป จำนวน 5 คน เจ้าอาวาส วัดกุฎีลายหรือตัวแทน จำนวน 1 รูป กำนันตำบลบ้านใหม่ จำนวน 1 คน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 บ้านท้ายไผ่ จำนวน 1 คน รวมทั้งหมดจำนวน 46 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) ข้อมูลจากแบบสอบถามวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ คือ ความถี่ ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลจากความคิดเห็นของ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมการทรัพยากรทางการศึกษา กระบวนการ ตามรูปแบบการบริหาร PDCA และผลประชุมกลุ่มย่อยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและนำมาสรุปเป็นความเรียง
ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัจจุบันของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) ในสภาพปัจจุบันของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก
2. ความต้องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามรูปแบบการบริหาร PDCA โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามรูปแบบ การบริหาร PDCA โรงเรียนวัดกุฎีลาย (อินมณีประชารัฐบำรุง) มี ดังนี้
4.1 ด้านการวางแผน (Plan) โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการระดมทรัพยากร โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียนในการระดมทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม มีการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงความสำคัญกับการวางแผน การระดมทรัพยากร และเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการระดมทรัพยากรทางการศึกษาของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.2 ด้านการปฏิบัติตามแผน (Do) ควรเพิ่มทักษะ เพิ่มศักยภาพของบุคลากรเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรทางการศึกษาของโรงเรียน และสรรหาบุคลากรให้เพียงพอในการปฏิบัติตามแผนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในการการระดมทรัพยากรตามกรอบงาน 4 ฝ่ายของสถานศึกษา เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และมี การจัดทำเครือข่ายในการระดมทรัพยากรจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ประกอบด้วย เครือข่าย รุ่นของศิษย์เก่า เครือข่ายผู้ให้การสนับสนุน
4.3 ด้านการตรวจสอบและประเมินผล (Check) ควรมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ชุมชน ภาคเอกชน เข้ามีส่วนในการพัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียนและภูมิทัศน์ และจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ในการจัดการเรียนการสอนโดยงบประมาณของชุมชนเอง ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเปิดโอกาส ให้ชุมชนในรูปแบบคณะกรรมการการติดตามผลการดำเนินงาน เข้าร่วมตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการใช้จ่าย และการดำเนินงานงบประมาณ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา
4.4 ด้านการปรับปรุงแก้ไข (Act) ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทราบถึงกิจกรรมระดมทรัพยากรทางการศึกษา ความขาดแคลน และความต้องการของโรงเรียน เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประชุมชี้แจงเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหา และหาแนวทางพัฒนาการระดมทรัพยากรทางการศึกษาทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรมการระดมทรัพยากร จัดทำคู่มือการระดมทรัพยากรทางการศึกษาของสถานศึกษา และรายงานผลการดำเนินงาน ของสถานศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อแจ้งแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ