ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
โรงเรียนบ้านควนตม อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวปิยะวัลย์ มณีฉาย
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนบ้านควนตม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2
ปีที่รายงาน 2563
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้โรงเรียนบ้านควนตม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องของกิจกรรม 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับด้านผู้บริหารและครู ด้านงบประมาณและทรัพยากร ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนา ด้านหน่วยงานสนับสนุน 3) ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการบริหารโครงการ การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในการปฏิบัติงาน และความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชน 4) ประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้เรียนตามที่สถานศึกษากำหนดและความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการของนักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และความพึงพอใจต่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและชุมชน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นครูผู้สอน นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน ปีการศึกษา 2563 จำนวน 66 คน จำแนกเป็น ครู จำนวน 5 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - 6 จำนวน 13 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 36 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถาม จำนวน 6 ฉบับ ที่ผู้ประเมินได้สร้างขึ้น ข้อคำถามเป็นแบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ระหว่าง 0.80 - 1.00 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.803 - 0.906 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) หาความตรงเชิงเนื้อหาของแบบสอบถาม และสัมประสิทธิ์แอลฟ่า หาความเที่ยงของแบบสอบถาม ผลการประเมินโครงการพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและ ทุกตัวชี้วัด
2. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดและมากทุกตัวชี้วัด ความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องของกิจกรรม
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดและมากทุกตัวชี้วัด ด้านผู้บริหารและครู ด้านงบประมาณและทรัพยากร ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาและหน่วยงานที่สนับสนุน
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับมากที่สุดและมากทุกตัวชี้วัด ทั้งตัวชี้วัดการบริหารโครงการ การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในการปฏิบัติงาน ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทุกตัวชี้วัดทั้งตัวชี้วัดผู้เรียนมีคุณลักษณะและค่านิยมที่ดีตามที่สถานศึกษากำหนด ความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการของนักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและชุมชน
ข้อเสนอแนะ
การดำเนินโครงการพัฒนาบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้โรงเรียนบ้านควนตมนั้น จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชน จึงจะสามารถพัฒนาบรรยากาศที่มีความสะอาดร่มรื่น เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะเห็นได้ว่าควรดำเนินโครงการนี้ต่อไป ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้การดำเนินโครงการครั้งต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ผลการประเมินประเด็นบริบทของโครงการ พบว่า ตัวชี้วัดความเป็นไปได้ของโครงการในรายการโรงเรียนมีงบประมาณที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการดำเนินงานของโครงการมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีงบประมาณเพียงพอต่อการดำเนินงานโครงการของโรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้การระดมทุนเป็นส่วนใหญ่ จึงควรวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณ การระดมทรัพยากรเพื่อให้เกิดความสมดุลกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
2. ผลการประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า ตัวชี้วัดระบบสาธารณูปโภคและระบบสุขาภิบาล อยู่ในระดับปานกลาง ทางโรงเรียนจึงควรหาวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบเพื่อให้มีความพร้อมในปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้การดำเนินกิจกรรมภายในโรงเรียนเป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย
3. ผลประเมินประเด็นกระบวนการของโครงการ พบว่า ทุกตัวชี้วัดอยู่ในระดับมาก ผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงควรพัฒนาระบบการบริหารงานให้มีความชัดเจนนำไปสู่ความเป็นเลิศในทุกตัวชี้วัด คือ การบริหารโครงการ การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรภายในโรงเรียน และความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
4. โครงการพัฒนาบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้โรงเรียนบ้านควนตม พบว่ามีสิ่งที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มขึ้นให้ได้คุณภาพที่สูงขึ้นไป เช่น อาคารเอนกประสงค์ ห้องน้ำ ระบบประปา อาคารเรียนอนุบาล จึงควรส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายบริหารโรงเรียนให้ดำเนินโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่องและจัดให้มีการระดมทรัพยากรในการพัฒนาโครงการเพื่อให้มีความพร้อมด้านงบประมาณ