พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ
(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มาตรา 22 ระบุไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 23 ระบุว่าการจัดการศึกษาทั้งการศึกษา
ในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คู่คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสม ของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องของความรู้
ทักษะด้านภาษาไทยและเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสาร การมีทักษะชีวิตที่ดีในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนการทำความเข้าใจในเนื้อหาความรู้ที่ศึกษา
การค้นคว้าได้อย่างถูกต้อง จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเห็นความสำคัญ
ของการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง
ได้อย่างมีความสุข
การเป็นพลเมืองที่ดีเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องประพฤติปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม
มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ของตนเอง รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง และปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมไม่ละเมิดล่วงล้ำสิทธิและเสรีภาพของ บุคคลอื่น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมของสังคมไทย เช่นเดียวกับ
สังคมอื่น ทุกสังคมย่อมต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงความมีร่างกายจิตใจดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาได้ มีประสิทธิภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคงให้กับประเทศชาติและการเป็นพลเมืองดีนั้นย่อมต้องการปฏิบัติตามบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมมีคุณธรรม
เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอีกด้วย เพื่อการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการ (2551:37)
แนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เน้นจัดให้เหมาะสมกับวัย และผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถพัฒนาและ
ขยายความคิดของตนทั้งส่วนกว้างและส่วนลึกการจัดการเรียนการสอนที่มีความหมาย บูรณาการ พัฒนาค่านิยม จริยธรรม ท้าทายและเน้นการปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้การเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
จึงเป็นการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายเทคนิค เช่น การเรียนรู้แบบร่วมมือ การศึกษานอกสถานที่ การสัมภาษณ์ การระดมสมอง การใช้แบบฝึกหัด การใช้เอกสารประกอบการเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละบุคคล จากการศึกษาผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนรายวิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง ตั้งแต่ปี 2561 2562 ปรากฏผลดังนี้
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาสังคมศึกษา เรื่อง พลเมืองดีศรีสังคม
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง
ข้อมูลเปรียบเทียบ ปีการศึกษา
2561 2562
เป้าหมาย 75 75
ผลการประเมิน 68.34 71.11
จากตารางที่ 1 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาสังคมศึกษา เรื่อง พลเมืองดีศรีสังคม
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง ตั้งแต่ปี 2561 2562 ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโดยธรรมชาติของวิชาสังคมศึกษาแล้ว ถือว่าเป็นวิชาที่นักเรียนไม่ค่อยให้ความสนใจ เมื่อผนวกกับขาดสื่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และครูผู้สอนจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ค่อนข้างไม่มีความน่าสนใจ จึงส่งผลให้การเรียนเกิดความเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นความสำคัญของวิชาสังคมศึกษา
ผู้รายงานได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้รายงานพบว่าปัจจุบันได้มีการสร้างเอกสารประกอบการเรียน ที่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก และพบว่าเอกสารประกอบการเรียนช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ดังที่ สุวิทย์ มูลคำ และ อรทัย มูลคำ
(2556 : 57 58 ) ได้กล่าวถึงข้อดีของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนเป็นรายบุคคล โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความสามารถ ความสนใจ ตามเวลาและโอกาส
ที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล แก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน เพราะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
และต้องการความช่วยเหลือของครูผู้สอนไม่มากนัก สร้างความมั่นใจและช่วยลดภาระของครูผู้สอน เนื่องจากเอกสารประกอบการเรียนเตรียมไว้ครบตามจำนวนหน่วยการเรียนรู้ และจัดไว้เป็นหมวดหมู่ ทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ทันที เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง มีโอกาสฝึก
การตัดสินใจ และการทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อน และช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้รับความรู้แนวเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้รายงานได้ดำเนินการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน ชุด พลเมืองดีศรีสังคม รายวิชาสังคมศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ และช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น อีกทั้งได้สื่อที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ ไม่เบื่อหน่าย และเกิดความรู้พร้อมมีคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น