การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนและเพื่อศึกษานิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ผู้ประเมินได้ใช้วิธีการประเมินตามแนวคิดรูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) นำมาใช้ในการประเมินกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งสิ้น จำนวน 125 คน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมินครั้งนี้เป็นแบบสอบถามมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม โดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α-Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่น ที่ 0.96วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า 1) การประเมินบริบทของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีความเหมาะสม ความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อพบว่าเป้าหมายของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือวัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบาย วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโรงเรียน และการดำเนินงานของโครงการ/กิจกรรมมีความเหมาะสมกับสภาพ/บริบทของโรงเรียน ส่วนหลักการและเหตุผลของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายวิสัยทัศน์และเป้าหมายของโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 2) การประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อพบว่า โรงเรียนมีการกำกับ ติดตามและประเมินผลการใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการของโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือการดำเนินการกิจกรรมแต่ละกิจกรรมมีระยะเวลาที่เหมาะสมและผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบเข้าใจวัตถุประสงค์และการจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมรักการอ่านเป็นอย่างดี ส่วนมีการจัดป้ายนิเทศ นิทรรศการต่างๆ ที่ส่งเสริมการอ่าน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 3) การประเมินกระบวนการของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อพบว่า มีการนิเทศติดตามการดำเนินโครงการด้วยวิธีการที่หลากหลายครบทุกกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ การดำเนินการนิเทศ ติดตามโครงการเป็นไปตามแผนและปฏิทินที่กำหนดและมีการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ส่วนโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านได้กำหนดบทบาทหน้าที่และผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานชัดเจน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 4) การประเมินผลผลิตของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 ด้านการประเมินผลสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ โดยภาพรวมมีความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อพบว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ โครงการส่งเสริมกิจกรรมรักการอ่าน ทำให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และนักเรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนนักเรียนรู้จักการใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือมากขึ้น มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 5) การประเมินผลผลิตของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 ด้านความพึงพอใจต่อผลการโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อพบว่า ความพึงพอใจต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านและพฤติกรรมการอ่าน การเขียนดีขึ้นและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ส่วนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 6) การประเมินพฤติกรรมลักษณะนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีเกิดพฤติกรรมการอ่านอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อพบว่า ฉันพิจารณาสาระเนื้อหาเรื่องที่อ่านอย่างละเอียด มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ฉันอ่านแล้วมักได้ใช้ประโยชน์เสมอและฉันมีสมาธิดีในการอ่าน ส่วนฉันพูดเชิญชวนผู้อื่นอ่านผลงานของนักเขียนที่ฉันชอบ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
จากผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดคงคาล้อม ปีการศึกษา 2563 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ควรดำเนินการต่อไปโดยนำผลการประเมินไปปรับใช้และสรุปเป็นข้อเสนอแนะได้ดังนี้
1. จากผลการประเมินด้านบริบท พบว่าหลักการและเหตุผลของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบาย วิสัยทัศน์และเป้าหมายของโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น โรงเรียนควรกำหนดหลักการและเหตุผลของโครงการโดยคำนึงถึงนโยบาย วิสัยทัศน์และเป้าหมายของโรงเรียนเป็นหลัก เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามหลักการและเป้าหมายที่วางไว้
2. จากผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่ามีการจัดป้ายนิเทศ นิทรรศการต่างๆ ที่ส่งเสริมการอ่าน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนควรดำเนินการจัดป้ายนิเทศ นิทรรศการที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านอย่างทั่วถึง เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
3. จากผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่าโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านได้กำหนดบทบาทหน้าที่และผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานชัดเจน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโดยกำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถดำเนินโครงการได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
4. จากผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่านักเรียนรู้จักการใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือมากขึ้น มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น โรงเรียนควรจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนมีความสุขกับกิจกรรม เห็นคุณค่าของการอ่านและใช้เวลาว่างสำหรับการอ่านมากขึ้น
5. จากผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่าการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกิจกรรมของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมที่หลากหลายและเกิดคุณค่ากับนักเรียนสูงสุด
6. จากการประเมินพฤติกรรมลักษณะนิสัยรักการอ่านของนักเรียน พบว่า นักเรียนพูดเชิญชวนผู้อื่นอ่านผลงานของนักเขียนที่ฉันชอบ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น โรงเรียนควรจัดกิจกรรมและส่งเสริมด้านการพูดให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำประสบการณ์ไปใช้เผยแพร่ เชิญชวนให้ผู้อื่นรักการอ่านมากขึ้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรมีการเก็บข้อมูลการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเชิงประจักษ์ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต เพื่อให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมในเชิงลึก
2. ควรมีการประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียนด้วยรูปแบบ CIPP โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
3. ควรมีการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โดยใช้รูปแบบการประเมินอื่นๆ เช่น รูปแบบการประเมินของสเต็ก (Stake) รูปแบบการประเมินอง สคริฟเวน (Scriven)