บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียน
ของโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
ผู้รายงาน : นายอาชวิน จันจำรัส
ปีการศึกษา : ปีการศึกษา 2563
การดำเนินโครงการ : ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563
การประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และ ค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 ในด้านสภาพแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) ของโครงการด้วยแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) และเพื่อประเมินผลสำเร็จโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่ ด้วยการเปรียบเทียบพฤติกรรมด้านคุณลักษณะอัน
พึงประสงค์ของผู้เรียนก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ประเมินได้มาจากการคำนวณตามสูตรของทาโร ยามาเน่ (Taro Yamane) กำหนดระดับความเชื่อมั่นที่ 95% โดยคิดเป็นอัตราส่วนจากจำนวนประชากร และความเหมาะสม ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 330 คน ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครู จำนวน 18 คน ผู้เรียน จำนวน 151 คน ผู้ปกครอง จำนวน 151 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมิน จำนวน 5 ฉบับ แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ได้แก่
ฉบับที่ 1 แบบประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context) ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 ฉบับที่ 2 แบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 ฉบับที่ 3 แบบประเมินด้านกระบวนการ(Process) แบ่งเป็นฉบับสำหรับครู และฉบับสำหรับผู้เรียน ดังนี้ กิจกรรมบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์กับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 กิจกรรมจิตอาสา ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 กิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.96 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 กิจกรรมโรงเรียนสะอาดสวยด้วยมือเรา ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98ฉบับที่ 4 แบบประเมินด้านผลผลิตของโครงการ (Product) แบ่งเป็นฉบับสำหรับครู และฉบับสำหรับผู้เรียน ดังนี้ กิจกรรมบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์กับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98 กิจกรรมจิตอาสา ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.86 กิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน ฉบับครู มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.92 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 กิจกรรมโรงเรียนสะอาดสวยด้วยมือเรา ฉบับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 และแบบประเมินพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่ แบ่งเป็นฉบับสำหรับครู ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 ฉบับผู้ปกครอง ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 และฉบับผู้เรียน ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.82 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x ̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ ค่าความเที่ยงตรงตามโครงสร้างของแบบสอบถามโดยใช้ดัชนีความสอดคล้อง IOC ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค และ t-test ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และ ค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 ด้วยแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) โดยแบ่งผลการวิเคราะห์เป็น 4 ด้าน ดังนี้
1.1 ด้านสภาพแวดล้อม (Context) ผลการประเมินในภาพรวม มีความสอดคล้อง และเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.74, S.D. = 0.32)
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ผลการประเมินในภาพรวม มีความพอเพียง และความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.69, S.D. = 0.30)
1.3 ด้านกระบวนการ (Process) ผลการประเมินของทั้ง 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์กับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน และกิจกรรมโรงเรียนสะอาดสวยด้วยมือเรา ผลการประเมินโดยครู ในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.52, S.D. = 0.31) และผลการประเมินโดยผู้เรียนในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.54, S.D. = 0.35)
1.4 ด้านผลผลิต (Product) ผลการประเมินของทั้ง 4 กิจกรรม ได้แก่กิจกรรมบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์กับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน และกิจกรรมโรงเรียนสะอาดสวยด้วยมือเรา ผลการประเมินโดยครู
ในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.44, S.D. = 0.33) และผลการประเมินโดยผู้เรียนในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.48, S.D. = 0.27)
2. ผลสำเร็จของโครงการโรงเรียนคุณธรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และ ค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนอนุบาลบางใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 จากการประเมินของครู ผู้ปกครอง และผู้เรียน สอดคล้องกันและพบว่าการเปรียบเทียบพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนก่อนและหลังการเข้าร่วมโครงการ ทั้ง4ด้านได้แก่ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร ผู้เรียนเอื้ออาทรผู้อื่นและกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ผู้เรียนมีความเป็นประชาธิปไตย ยอมรับความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และผู้เรียนตระหนัก รู้คุณค่า ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมในภาพรวมพบว่าผู้เรียนมีพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านคุณภาพผู้เรียน ร้อยละของระดับพฤติกรรมการปฏิบัติด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ ก่อนเข้าร่วมโครงการมีผลรวมเฉลี่ยทั้งหมด ร้อยละ 58.23 และหลังเข้าร่วมโครงการ มีผลรวมเฉลี่ยทั้งหมดร้อยละ 97.26 ซึ่งสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ และผลการเปรียบเทียบพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ ประเมินโดยครู ผู้ปกครอง และผู้เรียนหลังเข้าร่วมโครงการสูงขึ้นในทุกด้าน โดยภาพรวมหลังการเข้าร่วมโครงการอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.49, S.D. = 0.18) เมื่อพิจารณาค่า t-test ในแต่ละด้าน แสดงให้เห็นว่าระดับคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนหลังเข้าร่วมโครงการสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01