ชื่อผลงาน : รายงานการประเมินโครงการอยู่อย่างพอเพียงเพื่อชีวิตที่เพียงพอ
โรงเรียนบ้านห้วยหมากหนุน
ชื่อผู้ประเมิน: นายพนม คำอ้าย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหมากหนุน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต2
ปีการศึกษา : 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการอยู่อย่างพอเพียงเพื่อชีวิตที่เพียงพอ ของโรงเรียนบ้านห้วยหมากหนุน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต2 ปีการศึกษา 2563 ด้วยรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อประเมินด้านบริบทของโครงการ 2) เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการของโครงการ 4) เพื่อประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมิน ทั้งหมดจำนวน 58 คน ได้แก่ ครู จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน (ไม่นับรวมตัวแทนครูและผู้บริหาร จำนวน 2 คน) ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.4 - ป.6 โรงเรียนบ้านห้วยหมากหนุนและโรงเรียนเรียนร่วมบ้านแม่สะกั๊วะ จำนวน 23 คน นักเรียนชั้น ป.4 - ป.6 โรงเรียนบ้านห้วยหมากหนุนและโรงเรียนเรียนร่วมบ้านแม่สะกั๊วะ จำนวน 23 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน คือ 1) แบบสอบถามด้านบริบทของโครงการ 2) แบบสอบถามด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) แบบสอบถามด้านกระบวนของโครงการ 4) แบบสอบถามด้านผลผลิตโครงการ 5) แบบประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจในการดำเนินโครงการ
สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ การหาค่าความสอดคล้อง (IOC) การหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α-Coefficient) ของครอนบาค การหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ KR.20 ของ คูเดอร์-ริชาร์ดสัน (Kuder-Richardson) สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ ผลการประเมินโครงการพบว่า
1.การประเมินด้านบริบทของโครงการ ผลการประเมินพบว่า มีความสอดคล้องอยู่ในระดับ มากที่สุด เรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย คือความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ , ความเหมาะสมของกิจกรรมในโครงการอยู่อย่างพอเพียงเพื่อชีวิตที่เพียงพอ , ความจำเป็นของโครงการ และความสอดคล้องกับนโยบายต้นสังกัด/โรงเรียน ตามลำดับ
2.การประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ผลการประเมินพบว่า มีความเพียงพอเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย คือ ความเหมาะสมของสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ , ความพร้อมของบุคลากร , ความเหมาะสมด้านการบริหารจัดการ และความเหมาะสมของงบประมาณตามลำดับ
3.การประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการอยู่อย่างพอเพียงเพื่อชีวิตที่เพียงพอ ผลการประเมินพบว่า มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับ มาก
4.การประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ผลการประเมินพบว่า
-ด้านผลการดำเนินงาน มีประสิทธิผลอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ กิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ได้โปรตีน , กิจกรรมผ้าทอมือคืออาชีพ , กิจกรรมเลี้ยงหมูสู่อาชีพ และกิจกรรมผักดีไม่มีสารพิษ ตามลำดับ
-พบว่า นักเรียนได้คะแนนระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เฉลี่ย 70.75 คิดเป็นร้อยละ 88.42 โดยมีระดับความรู้ความเข้าใจ อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 39.13 อยู่ในระดับดี ร้อยละ 56.52 และอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 4.35 ซึ่งผ่านตามเกณฑ์กำหนดทุกคน
-ด้านความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อโครงการ พบว่า ความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก