รายงานการสร้างนวัตกรรม
ชื่อนวัตกรรม การจัดการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
ชื่อผู้สร้าง นางสาวนวกชมณ อุราโรจน์
ตำแหน่ง ครู โรงเรียนวัดงิ้วราย(พินพิทยาคาร)
ที่ปรึกษา ว่าที่ร้อยตรีธวัฒน์ ประภาวิทย์
นางสาวประกายดาว คำป้อม
นางนุสรา ขจรบุญ
ปีการศึกษา ๒๕๖๓
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
เนื่องจากการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยในปัจจุบันยังประสบกับปัญหาด้านการอ่าน โดยเฉพาะเรื่องการอ่านจับใจความ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียน ในระดับชั้นนี้ จะต้องทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-net) ซึ่งเป็นการทดสอบที่ใช้การอ่านโดยเฉพาะการอ่านจับใจความ ดังนั้นครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จึงได้จัดทำแบบฝึกทักษะนี้ขึ้นมา
โดยสร้างแบบฝึกทักษะ เรื่องการอ่านจับใจความ ขึ้นเพื่อนำไปสอนเสริมทักษะ เป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อส่งผลให้การสอนเสริมทักษะมีผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น และนักเรียนสามารถนำไปเรียนและแบบฝึกทักษะได้ตามความเหมาะสม และความต้องการของผู้เรียนในโอกาสต่อไป
โดยหวังว่าแบบฝึกทักษะวิชาภาษาไทยเรื่องการอ่านจับใจความชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จะสามารถทำหน้าที่เสริมความรู้ และเสริมทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้เรื่องการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
๒. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
๓. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
กลุ่มเป้าหมาย
ประชากร / กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างที่ใช้โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนวัดงิ้วราย(พินพิทยาคาร) อำเภอนครชัยศรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต ๒ จำนวน ๒๔ คน
หลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่ใช้
การสร้างแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ครั้งนี้ ผู้จัดทำได้รวบรวมเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยได้เรียงตามลำดับ ดังนี้
๑. เอกสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
๒. เอกสารที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ การอ่าน
๓. เอกสารเกี่ยวกับการอ่านจับใจความ
๔. เอกสารที่เกี่ยวกับการสร้างแบบฝึกทักษะ
๕. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
สายสุนี สกุลแก้ว (๒๕๓๔ : ๒) ได้ให้หลักการสอนอ่านไว้ว่า การสอนอ่านในแต่ละครั้ง ครูควรให้นักเรียนรู้จุดมุ่งหมายของการสอน ต้องการอะไรจากเรื่องที่อ่านเพื่อจะได้นำไปสู่จุดนั้นได้เร็วขึ้น แล้วจึงอ่านข้อความให้จบอย่างคร่าว ๆ เพื่อจะได้ดูว่าเรื่องที่อ่านเกี่ยวข้องกับเรื่องใด ถ้าเป็นหนังสือทั้งเล่มควรอ่านสารบัญก่อน ขั้นตอนต่อไปอ่านโดยละเอียดให้ตลอดเรื่องในขณะที่อ่านพยายามตั้งคำถามขึ้นในใจว่าเรื่องที่อ่านเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร อย่างไร ผู้แต่ง มีจุดมุ่งหมายอย่างไร สิ่งสำคัญ ควรฝึก อ่านจับใจความอยู่เสมอ จึงจะช่วยให้อ่านหนังสือได้เร็ว และจับใจความสำคัญได้ดี
สรุปได้ว่าหลักสำคัญในการอ่านจับใจความ ในการสอนทักษะการอ่านจับใจความนั้นครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญในการนำไปปฏิบัติและใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยให้การสอนอ่านจับใจความประสบผลสำเร็จบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้โดยเฉพาะเรื่องของความสนใจในการอ่าน จับใจความ ครูต้องมีความพยายามสร้างความสนใจให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มองเห็นความสำคัญ และคุณค่าของการอ่านจับใจความ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละครั้งครูผู้สอนต้องคำนึงปัจจัย ต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับการอ่านของนักเรียนสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการวัดผลการสอนอ่านอยู่เสมอ เพื่อจะได้ทราบปัญหา และแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องได้ทันท่วงที
จุดมุ่งหมายของการสอนอ่านจับใจความ
นักการศึกษาได้กำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนอ่านจับใจความ ดังนี้ คือ
สายสุนี สกุลแก้ว (๒๕๓๔ : ๒๗) ได้แบ่งจุดมุ่งหมายของการอ่านเพื่อจับใจความออกเป็น ๖ ประการ ดังนี้
๑. อ่านเพื่อจับใจความคร่าว ๆ (Scanning or Skimming Reading)
๒. อ่านเพื่อจับใจความสำคัญ (Idea Reading)
๓. อ่านเพื่อสำรวจรายละเอียดและใจความสำคัญโดยทั่ว ๆ ไป (Exploratory Reading)
๔. อ่านเพื่อเข้าอย่างถ่องแท้ (Study Reading)
๕. อ่านเพื่อใช้วิจารณญาณติดตามข้อความที่อ่าน (Critical Reading)
๖. อ่านเพื่อวิเคราะห์ข้อความหรือแนวคิดในเรื่องที่อ่าน (Analytical Reading)
สรุปได้ว่า การอ่านจับใจความที่จะประสบผลสำเร็จนั้น นักเรียนต้องรู้จุดมุ่งหมายในการอ่าน ว่าจะอ่านเพื่ออะไร หรืออ่านอะไร และประการสำคัญต้องพยายามจับใจความสำคัญของเรื่องให้ได้ รู้แนวคิดของเรื่องว่าเป็นอย่างไร และเพื่อบรรลุผลการอ่านครูผู้สอนควรเน้นย้ำจุดมุ่งหมายในการอ่านแก่ผู้เรียนด้วย
วิธีดำเนินการ
๑. ผู้จัดทำได้ทำความเข้าใจกับนักเรียน เกี่ยวกับขั้นตอนการทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน จับใจความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจและทำการทดลองตามขั้นตอนที่ผู้จัดทำกำหนดไว้
๒. จัดเตรียมเอกสารแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แบบทดสอบ ก่อนเรียน-หลังเรียน และแบบสำรวจความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่าน จับใจความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ให้ครบตามจำนวนกลุ่มทดลอง
ผู้จัดทำดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๓. ผู้จัดทำนำแบบทดสอบก่อนเรียน (Pretest) ที่สร้างขึ้นใช้ทดสอบก่อนการทดลอง ๑ วัน ใช้เวลาในการทดสอบ ๑ ชั่วโมง แล้วตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
๔. ผู้จัดทำดำเนินการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๖ สัปดาห์ละ ๓-๔ วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๕. ทำการทดสอบหลังเรียน (Posttest) หลังจากการทดลองสิ้นสุดลง โดยใช้แบบทดสอบ ฉบับเดียวกับที่ใช้ทดสอบก่อนเรียน แต่แยกฉบับและสลับข้อกัน
๖. สำรวจความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
ผลการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรม
โดยสรุปผลการดำเนินงานการใช้นวัตกรรม การบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้ การนิเทศติดตาม และประเมินผลได้ ดังนี้
๑) ผลที่เกิดต่อผู้บริหาร
๑. เป็นผู้นำทางวิชาการและสามารถส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีภาวะผู้นำทางวิชาการ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการจัดการเรียนรู้
๒. ส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแสดงความสามารถในทางวิชาการ
๓. นิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมิน และรายงานผลได้อย่างมีประสิทธิผล
๒) ผลที่เกิดต่อครู
๑. ได้พัฒนาเทคนิคการสอน การทำงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ตามที่หลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐานกำหนดไว้
๒. ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ก้าวทันโลก ที่กำลังเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างเต็มที่
๓. ทำให้ทราบจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนาของครู เพื่อปรับปรุง และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ให้เกิดประสิทธิผลแก่นักเรียนอย่างสูงสุด
๓) ผลที่เกิดต่อนักเรียน
๑. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่๖ มีผลการเรียนรู้เรื่องการอ่านจับใจความที่ดีขึ้น ๒. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่๖ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยเพิ่มขึ้น ๓. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่๖ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ (O-NET) สูงขึ้น