ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของโรงเรียนบ้านปากแพรก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง
ชื่อผู้วิจัย นายกฤชณภัทร จันทาอ่อน
ปี พ.ศ. 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของโรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความสอดคล้อง ความชัดเจน และความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมทั้ง 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง รวมถึง 3) เพื่อประเมินกระบวนการการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในและภายนอกโรงเรียนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการจัดกิจกรรม การเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน การบูรณาการการอ่านในกระบวนการเรียนรู้ และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับ คุณภาพของผู้เรียนจากการร่วมกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยพิจารณาจาก จำนวนนักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ผลการประเมิน การอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตลอดจนความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน รูปแบบที่ใช้ในการประเมินคือ CIPP Model ของสตัฟ เฟิลบีม (Stufflebeam) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 4 คน นักเรียน จำนวน 58 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 58 คน รวม 130 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 7 ฉบับ แบบบันทึก จำนวน 3 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้ t-test แบบไม่อิสระ สถิติที่ใช้หาค่าความตรงของเครื่องมือ (Validity) ใช้สูตร IOC หาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถาม โดยการหาค่าความเชื่อมั่นแบบ Alpha Co-efficient ตามสูตรของครอนบัค Cronbach
ผลการประเมิน
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของโรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ในครั้งนี้ ผู้วิจัยสรุปผลการประเมินโครงการตามลำดับวัตถุประสงค์ และนำเสนอผลของส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นความเป็นมาด้วย ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ พบว่า มีผลการประเมินด้านบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของโครงการ ความสอดคล้องและความชัดเจนของวัตถุประสงค์ และความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์โครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
1.1 ความต้องการจำเป็นของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
1.2 ความสอดคล้องและความชัดเจนของวัตถุประสงค์ของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
1.3 ความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์โครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า มีผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
2.1 ความพร้อมด้านบุคลากร พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
2.2 ความพร้อมด้านงบประมาณ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
2.3 ความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับปานกลาง
2.4 ความพร้อมด้านเครื่องมือ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก
2.5 ความพร้อมด้านองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ พบว่า มีผลการประเมินกระบวนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับ การมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในและภายนอกโรงเรียน การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการจัดกิจกรรม การเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน การบูรณาการการอ่านในกระบวนการเรียนรู้ อยู่ในระดับมากที่สุด ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
3.1 การมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในและภายนอกโรงเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
3.2 การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
3.3 ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการจัดกิจกรรม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก
3.4 การเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก
3.5 การบูรณาการการอ่านในกระบวนการเรียนรู้ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า มีผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนจากการร่วมกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยพิจารณาจาก จำนวนนักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตลอดจนความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
4.1 นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านคิดเป็นร้อยละ 97.70
4.2 ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน มีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 93.48
4.3 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ โดยนักเรียนมีผลการเรียนอยู่ในระดับดีถึงดีมาก มีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 71.74
4.4 ความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
4.5 ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด
5. ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของโรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ในภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ มีผลการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด โดยได้คะแนนรวม 92.80 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และเมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของประเด็นการประเมินทั้ง 4 ประเด็น พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ประเด็นมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัด พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 18 ตัวชี้วัด
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างสม่ำเสมอผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายจะทำให้นักเรียนมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ดี จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย จากผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของโรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ในครั้งนี้ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ประเด็น โรงเรียนบ้านปากแพรก จึงควรดำเนินการโครงการนี้ต่อไป และผู้เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. จากผลการประเมินพบว่า ด้านบริบทโครงการเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการ ความจำเป็น และความเป็นไปได้ของโครงการ จึงเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติให้ไปสู่ความสำเร็จได้ดี
2. จากผลการประเมินพบว่า ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการที่ใช้ในการดำเนินงานนั้นเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จ ในการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของโรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ในครั้งนี้มีปัจจัยโดดเด่นคือ ความพร้อมด้านบุคลากรและด้านงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ส่วนความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ ด้านเครื่องมือและด้านองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ควรมีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่ต้องใช้ในการดำเนินโครงการให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรม และควรที่จะพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์แก่ครูผู้รับผิดชอบโครงการก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ
3. จากผลการประเมินพบว่า ด้านกระบวนการดำเนินโครงการ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในและภายนอกโรงเรียน การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการจัดกิจกรรม การเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน การบูรณาการการอ่านในกระบวนการเรียนรู้ ประสบผลสำเร็จในระดับมากที่สุด จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้บริหาร ครู ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จัดกิจกรรมส่งเสริม สนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน มีแผนงานและแนวทางที่ชัดเจน โรงเรียนมีการสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น จัดมุมหนังสือ จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้มีความเหมาะสม และสามารถนำไปบูรณาการการอ่านในกระบวนการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ จะส่งผลดีต่อการดำเนินโครงการอย่างเห็นได้ชัด ส่วนด้านระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการในแต่และกิจกรรม และระยะเวลารวมของโครงการควรปรับให้เหมาะสมสำหรับในแต่ละกิจกรรมซึ่งมีความแตกต่างกันตามสภาพและวิธีการดำเนินงานของกิจกรรมนั้น ๆ
4. ผลผลิตของโครงการ คือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ จากผลการประเมินไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ดี ไม่ใช่ปัจจัยสำเร็จรูปทางเดียวในการพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร หากแต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อนักเรียน ดังนั้นจึงควรมีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เครื่องมือและสื่อต่าง ๆ ควรพัฒนาให้ทันต่อเหตุการณ์ ครูเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ในฐานะที่เป็นครูต้องหาวิธีการที่จะส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่านจนติดเป็นนิสัย เมื่อมีเวลาว่างนักเรียนต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน และอ่านอย่างเต็มใจ ดังนั้นครูต้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรักการอ่าน เพราะนอกจากจะทำให้นักเรียนรักการอ่านแล้ว ยังทำให้นักเรียนมีประสบการณ์จากการอ่านอย่างกว้างขวางและเกิดทักษะในการอ่านมากขึ้น และที่สำคัญกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรัก การอ่านทั้งที่เป็นกิจกรรมในและนอกชั้นเรียน กิจกรรมบูรณาการกับกลุ่มสาระ กิจกรรมนันทนาการและเกมเชิงสร้างสรรค์ เหมาะสมกับวัยของนักเรียนจะเห็นได้จากนักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ดังนั้นควรมีการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มีคุณลักษณะที่ต้องการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาตามหลักสูตร อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง