การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางในพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน ของโรงเรียนทุ่งสงวิทยา ในระหว่างปีการศึกษา 2561 2562 2) เพื่อศึกษาและสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่เป็นระบบ ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ของโรงเรียนทุ่งสงวิทยา 3) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่เป็นระบบ ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ของโรงเรียนทุ่งสงวิทยา ในปีการศึกษา 2563 และ 4) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่เป็นระบบ ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ของโรงเรียนทุ่งสงวิทยา
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 664 คน จำแนกได้ดังนี้ 1) กลุ่มตัวอย่างในปีการศึกษา 2562 จำนวน 25 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย ครู จำนวน 12 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 10 คน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3 คน 2) กลุ่มตัวอย่างในปีการศึกษา 2563 จำนวน 639 คน ได้แก่ ครู 52 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ใช้ประชากรเป็นกลุ่มตัวอย่าง และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการเปิดตารางและใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย จำนวน 287 คน และผู้ปกครองนักเรียน กำหนดให้เป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 287 คน ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed methods) และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ฉบับ ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง 3 ฉบับ แบบการบันทึกการสนทนากลุ่มย่อย 1 ฉบับ แบบสอบถาม 6 ฉบับ และแบบบันทึกข้อมูลสารสนเทศและสถิติข้อมูล 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย มีดังนี้
1. สภาพปัญหาและแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน ของโรงเรียน ทุ่งสงวิทยา ในระหว่างปีการศึกษา 2561 2562
จากการศึกษาสภาพปัญหาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ มีนักเรียนที่ออกกลางคัน และเรียนไม่จบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัญหาพฤติกรรมการเรียนรู้และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของนักเรียน ปัญหาด้านวิธีการจัดการเรียนรู้ของครู และโรงเรียนขาดกลยุทธ์ที่เป็นนวัตกรรมในการพัฒนา โดยมีแนวทางในการพัฒนา 3 ประเด็น คือ 1) การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2) พัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของครู โดยใช้กระบวนการนิเทศ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ 3) การพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนรู้ จัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเข้มแข็ง และส่งเสริมคุณลักษณะของผู้เรียนด้านคุณธรรมจริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. การศึกษาและสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการ ปฏิบัติที่เป็นระบบ ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ของโรงเรียนทุ่งสงวิทยา
โรงเรียนพัฒนารูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน ซึ่งมีทั้งหมด 6 ขั้นตอน คือ 1) การวางแผนการดำเนินงาน (Plan) 2) การปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน (Do) 3) การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) 4) การปรับปรุงแก้ไข (Action) 5) การเรียนรู้สู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Learning) และ 6) การบูรณาการ ความครอบคลุมและทั่วถึง (Integration) และ กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน ตัวชี้วัดความสำเร็จ และโครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน จำนวน 3 โครงการ 1) โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศ 2) โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) โครงการจัดการศึกษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. การศึกษากระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่เป็นระบบ ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ของโรงเรียน ทุ่งสงวิทยา ในปีการศึกษา 2563
กระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่เป็นระบบ ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ในการดำเนินโครงการ 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศ โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและโครงการจัดการศึกษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) การวางแผนการดำเนินงาน (Plan) ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สภาพบริบท กำหนดเป้าหมาย ประชุมชี้แจงการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ 2) การปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน (Do) ดำเนินการโดยการเน้นการมีส่วนร่วมและใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน โดยใช้ระบบการนิเทศ กำกับ ดูแลและติดตาม 3)การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) สรุปผลการดำเนินงาน จัดให้มีการรายงานสรุปการดำเนินงานโครงการแต่ละโครงการ 4) การปรับปรุงแก้ไข (Action) นำข้อมูลสารสนเทศจากการดำเนินงานรายงานโครงการ ปัญหาอุปสรรค มาปรับปรุงเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย 5) การเรียนรู้สู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Learning) ดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง พัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น 6) การบูรณาการ ความครอบคลุมและทั่วถึง (Integration) เป็นแนววิธีการบูรณาการการทำงานให้เกิดคุณภาพทั่วทั้งองค์กร
4. ผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน โดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่เป็นระบบ
ตามรูปแบบการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ของโรงเรียนทุ่งสงวิทยา ในปีการศึกษา 2563 สรุปได้ดังนี้
4.1 ประเด็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับสถานศึกษา ปีการศึกษา 2563 มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ไม่มีนักเรียนติด 0 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนทุ่งสงวิทยา ในปีการศึกษา 2563 คะแนนค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับชาติในวิชาภาษาไทย
4.2 ประเด็นผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พบว่า ร้อยละของจำนวนนักเรียนที่มีผลการประเมิน ระดับ 2-3 ในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนสูงขึ้น ประเด็นผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน พบว่า ร้อยละของจำนวนนักเรียนที่มีผลการประเมิน ระดับ 2-3 ในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนสูงขึ้น
4.3 ประเด็นผลการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า ค่าร้อยละของนักเรียนกลุ่มปกติ ปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 98.33 สูงกว่า ปีการศึกษา 2562 ค่าร้อยละของนักเรียนกลุ่มปกติ 98.10 และ ในปีการศึกษา 2563 ไม่มีนักเรียนออกกลางคัน
4.4 ประเด็นผลการประเมินตนเอง ด้านผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาของ โรงเรียนทุ่งสงวิทยา ประจำปี 2563 อยู่ในระดับดีเลิศ
4.5 ประเด็นผลงานเชิงประจักษ์ของนักเรียน ผู้บริหาร ครู และสถานศึกษา พบว่า
4.5.1 นักเรียนมีผลงานเชิงประจักษ์และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวนทั้งสิ้น 19 รางวัล โดยแบ่งเป็นระดับประเทศ จำนวน 6 รางวัล ระดับภาค จำนวน 5 รางวัล และระดับเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 8 รางวัล
4.5.2 ผู้บริหารมีผลงานเชิงประจักษ์และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 11 รางวัล โดยแบ่งเป็นระดับประเทศ จำนวน 5 รางวัล ระดับภาค จำนวน 1 รางวัล และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 5 รางวัล
4.5.3 ครูและบุคลากรมีผลงานเชิงประจักษ์และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 37 รางวัล โดยแบ่งเป็นระดับประเทศ จำนวน 7 รางวัล ระดับภาค จำนวน 5 รางวัล และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 25 รางวัล
4.5.4 สถานศึกษามีผลงานเชิงประจักษ์และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 11 รางวัล โดยแบ่งเป็นระดับประเทศ จำนวน 4 รางวัล ระดับภาค จำนวน 2 รางวัล และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 5 รางวัล และส่งผลให้จำนวนนักเรียนของโรงเรียนเพิ่มขึ้น คือ ในปีการศึกษา 2561 จำนวนนักเรียน 875 คน ปีการศึกษา 2562 จำนวนนักเรียน 945 คน ปีการศึกษา 2563 จำนวนนักเรียน 1,014 คน และ ปีการศึกษา 2564 จำนวนนักเรียน 1,212 คน เพิ่มขึ้นตามลำดับ
4.6 ประเด็นผลการประเมินความคิดเห็นและความพึงพอใจต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน พบว่า ความคิดเห็นของครู ต่อกระบวนการบริหารวงจรคุณภาพแบบ บูรณาการ (PDCALI MODEL) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ระดับความคิดเห็นของครู และนักเรียน ต่อการดำเนินกิจกรรม/โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน ด้วยกระบวนการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก และระดับความพึงพอใจของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ต่อผลของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านผู้เรียน ด้วยกระบวนการบริหารวงจรคุณภาพแบบบูรณาการ (PDCALI MODEL) ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก