เรื่อง การพัฒนาความสามารถในการแต่งกลอนสุภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC
ผู้วิจัย นางสาวตรีสุคนธ์ คูนาเอก ตำแหน่ง ครู
หน่วยงาน โรงเรียนเหล่ากลางวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24
ปีที่ศึกษา 2562
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแต่งกลอนสุภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนการจัดการเรียนรู้และหลังการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ของโรงเรียนเหล่ากลาง-วิทยาคม อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 21 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยวิธีจับสลากโดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1. แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการแต่งกลอนสุภาพ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC จำนวน 3 แผน แผนละ 2 คาบ 3 คาบ และ 4 คาบ รวมทั้งหมด 9 คาบ 2. แบบฝึกสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 ชุด รวมทั้งหมด 13 กิจกรรม 3. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการแต่งกลอนสุภาพ ก่อนเรียนและหลังเรียนจำนวน 1 ชุด ดังนี้ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ และแบบอัตนัย 1 ข้อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) โดยมีแบบแผนการวิจัยการทดลองกลุ่มเดียว มีการวัดก่อนและหลังการทดลอง (The One - Group Pretest-Posttest Design) ผู้วิจัยดำเนินการทดลองตามลำดับขั้นดังนี้
1) ทดสอบก่อนเรียน (Pretest) ผู้วิจัยนำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการแต่งกลอนสุภาพ รายวิชาภาษาไทย ท 22102 เป็นข้อสอบแบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ และเป็นข้อสอบแบบอัตนัย จำนวน 1 ข้อ คะแนนรวม 32 คะแนน นำมาทดสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 21 คน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง และทำการตรวจบันทึกผลคะแนนการทดสอบ
2) ดำเนินการทดลองตามแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 แผน 9 ชั่วโมง ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC ซึ่งกำหนดขั้นการจัดการเรียนรู้ 3 ขั้น
3) ทำการทดสอบหลังเรียน (posttest) นำแบบทดสอบชุดเดียวกันกับแบบทดสอบก่อนเรียน นำมาทดสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเหล่ากลางวิทยาคม จำนวน 21 คน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง แล้วนำผลงานของนักเรียนตรวจให้คะแนนโดยใช้เกณฑ์ที่ผู้วิจัยได้ศึกษาและปรับปรุงตามเกณฑ์การประเมินการแต่งคำประพันธ์
4) รวบรวมคะแนนที่ได้ไปหาค่าทางสถิติ โดยรวบรวมคะแนนจากการทำแบบทดสอบก่อนเรียนเปรียบเทียบกับหลังเรียนเพื่อหาคะแนนที่เพิ่มขึ้นของคะแนนความสามารถด้านการแต่งกลอนสุภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยศึกษาความสามารถในด้านการแต่งกลอนสุภาพ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC
ผลการศึกษาพบว่า
คะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการแต่งกลอนสุภาพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีคะแนนทดสอบก่อนเรียน (Pretest) ผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 42.86 หลังการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC แล้ว นักเรียนที่มีคะแนนทดสอบหลังเรียน (posttest) มากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 80.95
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การเรียนรู้เรื่องการแต่งกลอนสุภาพ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค CIRC เป็นวิธีการสอนที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งให้นักเรียนได้กล้าแสดงความคิดและลงมือปฏิบัติ นักเรียนได้เรียนรู้ภายใต้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ไม่รู้สึกกดดัน สภาพแวดล้อมที่สอดคล้องเหมาะสมกับหัวข้อการเรียนรู้จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดี นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ได้มีการรู้จักค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูล ฝึกฝน สร้างองค์ความรู้ หรือฝึกฝนทักษะการใช้กระบวนกลุ่มในการเรียนรู้ นักเรียนได้มีส่วนช่วยเหลือกัน และได้ระดมแนวคิดแสดงความคิดที่หลากหลาย ผลดีของการเรียนรู้แบบร่วมมือส่งผลดีต่อผู้เรียน คือ มีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งผู้เรียนมีความพยายามที่จะเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมาย เป็นผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และมีผลงานมากขึ้น การเรียนรู้มีความคงทนมากขึ้น มีแรงจูงใจภายในและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ให้เหตุผลดีขึ้น และคิดอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น