โรงเรียนบ้านท่าข้าม ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะแนวคิดเชิงคำนวณของนักเรียน เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามกรอบแนวคิดการเรียนรู้ของทักษะในศตวรรษที่ 21 (The 21st Century Skills Framework for 21st Century Learning) ซึ่งพัฒนามาจากองค์กรความร่วมมือทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หรือ P21 (Partnership for 21st Century Skills, 2010) ทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3 ด้านดังนี้
(1) ทักษะการเรียนรู้ (Learning skills) ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการสื่อสาร
(2) ทักษะด้านความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Literacy Skills) ได้แก่ ทักษะการรู้สารสนเทศ การรู้เท่าทันสื่อ ด้านความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และ
(3) ทักษะทางชีวิต (Life Skills) ได้แก่ ด้านความยืดหยุ่น การคิดริเริ่ม ทักษะสังคม การทำงานให้ประสิทธิผล และความเป็นผู้นำ
รายงานการประเมินโครงการการพัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนบ้านท่าข้าม: จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ปีการศึกษา 2563 ใช้การประเมินโครงการตามแนวทางซิปป์ (CIPP Model) โดยประกอบด้วยการประเมิน 4 ด้าน ดังนี้ (1) การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) (2) การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) 3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) 4) การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) และนอกจากนี้รายงานประเมินโครงการฉบับนี้ผู้ประเมินได้ ประเมินความพึงพอใจของโครงการด้วยเพื่อให้ครบมิติที่สำคัญทั้งหมดของการประเมินโครงการ
การประเมินโครงการเป็นการเก็บข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้แบบสอบถาม ในการเก็บข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้รวมทั้งสิ้น 84 คน ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 34 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 34 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง แบบสอบถามการประเมินได้สร้างตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวทางากรประเมินโครงการ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามการประเมินโครงการตามแนวทางซิปป์ (CIIPP Model) แบ่งออกเป็น 4 ส่วนย่อย ได้แก่ (1) ด้านสภาวะแวดล้อม (2) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (3) ด้านกระบวนการ และ (4) ด้านผลผลิต และฉบับที่ 2 คือแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการ โดยแบบสอบถามทั้งสองฉบับผ่าน การตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการศึกษา ด้านเทคโนโลยี และการวัดและประเมินผลการศึกษาได้ค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.87-1.00 กรอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการประเมินโครงการใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะแนวคิดเชิงคำนวณสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนบ้านท่าข้าม: จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ปีการศึกษา 2563 พบว่า
1. การประเมินสภาวะแวดล้อม จากความคิดเห็นของครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄=4.80, S.D.= 0.44)
2. ผลการประเมินความพร้อมของประเมินปัจจัยเบื้องต้น จากความคิดเห็นของของครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยภาพรวมมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄=4.79, S.D.= 0.23)
3. ผลการประเมินกระบวนการ จากความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄=4.67, S.D. = 0.58)
4. ผลการประเมินผลผลิต จากความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง มีผลการดำเนินงานโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄=4.60, S.D.= 0.58)
5. ผลการประเมินความพึงพอใจต่อกิจกรรมทั้ง 6 กิจกรรม จากความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄=4.83, S.D.= 0.38)
ข้อเสนอแนะ
1.ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์
1.1การดำเนินโครงการต่าง ๆ โรงเรียนควรมีการประเมินโครงการ เพื่อได้ทราบถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการดำเนินโครงการ ในที่นี้การประเมินโครงการได้ดำเนินการตามรูปแบบซิปป์ (CIIPP Model) เพื่อได้ทราบถึงบริบทของการดำเนินงานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านสภาวะแวดล้อม (2) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (3) ด้านกระบวนการ และ (4) ด้านผลผลิต
1.2 โรงเรียนควรจัดโครงการ หรือกิจกรรมการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดเชิงคำนวณให้กับนักเรียนอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21
1.3 ผู้บริหารโรงเรียนควรส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านทักษะการคิดเชิงคำนวณให้กับครู และสนับสนุนทรัพยากรในการจัดทำสื่อเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณของนักเรียน
2. ข้อเสนอแนะในการศึกษา และดำเนินการครั้งต่อไป
2.1 การจัดกิจกรรมในโครงการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดเชิงคำนวณของนักเรียน ควรใช้กิจกรรมที่หลากหลาย และคำนึงถึงความเหมาะสมตามระดับการเรียนรู้ของนักเรียน
2.2 โรงเรียนควรมีการจัดกิจกรรมที่หลายหลายในการส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อค้นหาความถนัดและความสนใจของนักเรียน และส่งเสริมนักเรียนรายบุคคลตามความถนัด