การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านยูงงาม อำเภอบ้านนาสาร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านยูงงาม
2. ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านยูงงาม
3. ประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านยูงงาม
4. ประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านยูงงาม
การประเมินครั้งนี้ ผู้ประเมินใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ (CIPP Model) ในการประเมิน โดยผู้ให้ข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 73 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 39 คน และผู้ปกครองโรงเรียนบ้านยูงงาม จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมิน
1. การประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับสอดคล้องกับนโยบายด้านการอ่านของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 และความต้องการจำเป็นของโรงเรียน โดยภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
2. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ เกี่ยวความเหมาะสมเพียงพอของกิจกรรมย่อย 5 กิจกรรม บุคลากร งบประมาณ การบริหารจัดการ ระยะเวลา สถานที่ ความรู้ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน การสนับสนุนของผู้ปกครองและบุคลากรในชุมชน โดยภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
3. การประเมินปัจจัยด้านกระบวนการเกี่ยวกับการวางแผนกิจกรรมการดำเนินงาน ความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตาม ส่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงาน โดยภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
4. การประเมินปัจจัยด้านผลผลิตเกี่ยวคุณลักษณะนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ความพึงพอใจของผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ด้านบริบทของโครงการ โรงเรียนควรจัดทำโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่มีกิจกรรมโครงการสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น เช่น การนำนักเรียน คณะครู และบุคลากรเข้าร่วมประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีการนำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านบูรณาการกับวันสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น กิจกรรมการอ่านสารวันสำคัญต่าง ๆ การอ่านกลอนชนิดต่าง ๆ การขับร้องเพลง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของนักเรียน คณะครูและบุคลากร และชุมชนในการร่วมกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้นักเรียน เป็นต้น
2. ด้านปัจจัยนำเข้าโครงการ โรงเรียนควรมีวางแผนและศึกษาราคากลางของวัสดุที่ใช้จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับราคาในตลาดทั่วไปและในท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนและจัดสรรงบประมาณในการงบประมาณดำเนินกิจกรรมโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอสำหรับการจัดซื้อจัดหาสื่อ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการดำเนินกิจกรรมให้เพียงพอและมีคุณภาพ เป็นต้น
3. ด้านกระบวนการ โรงเรียนควรมีการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนอย่างถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสะดวกต่อการนำไปใช้วางแผนการดำเนินงานโครงการที่เป็นปัจจุบัน โดยการที่ครูประจำชั้นมีการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศของนักเรียนทางด้านการอ่านเป็นรายบุคคล ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรม คุณลักษณะนิสัยรักการอ่าน ความสามารถพิเศษ รางวัลและเกียรติบัตร สมุดบันทึกการอ่าน และสามารถบูรณาการกับงานต่าง ๆ เช่น งานวิชาการ งานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นต้น
4. ด้านผลผลิต โรงเรียนยังมีความจำเป็นที่ต้องมีโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน เพราะนักเรียนยังมีความบกพร่องทางการด้านการอ่านและขาดพฤติกรรมนิสัยรักการอ่าน และโรงเรียนยังต้องดำเนินการพัฒนาด้านการอ่านและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้แก่นักเรียนต่อไป