การวิจัยนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขของโรงเรียนบ้านหนองยางหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนบ้านหนองยางหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่ ครูจำนวน 7 คน นักเรียนจำนวน 40 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน ผู้ปกครองจำนวน 40 คน รวมทั้งสิ้น 94 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม 3 ฉบับ แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ทุกฉบับใช้สอบถาม 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม(Context Evaluation) 2) ด้านปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation) 3) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) 4) ด้านผลผลิต Product Evaluation) ฉบับที่ 1 แบบสอบถามสำหรับครู จำนวน 47 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.41 ถึง 0.73 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.80 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามสำหรับนักเรียน จำนวน 50 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.40 ถึง 0.82 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.75 และฉบับที่ 3 แบบสอบถามสำหรับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครอง จำนวน 51 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.32 ถึง 0.77 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.72 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม(Context Evaluation) วัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมาก รูปแบบการดำเนินงานมีความชัดเจนเข้าใจง่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
2. ด้านปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation) ความพร้อมของทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่นำมาใช้สำหรับการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) การดำเนินงานของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต Product Evaluation) ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการมีคุณลักษณะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป ผลการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขของโรงเรียนบ้านหนองยางหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ซึ่งสารสนเทศที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงโครงการและการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป