รายงานการประเมินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองงูเห่า
นายธวัชชัย สัสดีทอง
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ วิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนบ้านหนองงูเห่า
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองงูเห่า มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินการดำเนินโครงการ 4 ด้าน ประกอบด้วย การประเมินสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองงูเห่า อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี 2)เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองงูเห่า กลุ่มประชากร ได้แก่ ครู จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 35 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ คือ แบบประเมินโครงการ จำนวน 5 ชุด โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน
ผลประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นต่อการดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียน บ้านหนองงูเห่า ด้านสภาพแวดล้อม โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.67)
เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและชุมชน (µ = 4.91) รองลงมา คือ หลักการและเหตุผลของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด (µ = 4.83) และมีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น เพื่อเตรียมความพร้อมให้มีความเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร (µ = 4.75) ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นต่อการดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียน บ้านหนองงูเห่า ด้านปัจจัยนำเข้า โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.59)
เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ มีวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในโครงการอย่างเพียงพอ (µ = 4.83) รองลงมา คือ มีการจัดทำคู่มือและเอกสารเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการแจกให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน (µ = 4.75) และมีอาคารสถานที่ในการปฏิบัติกิจกรรมของโครงการอย่างเหมาะสมและเพียงพอ (µ = 4.66) ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นต่อการดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียน บ้านหนองงูเห่า ด้านกระบวนการ โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.66)
เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ สถานศึกษาร่วมมือกับชุมชนในการประชุม วางแผน เพื่อกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการร่วมกัน (µ = 4.91) รองลงมา คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูร่วมกันนิเทศ ติดตาม ควบคุม และดูแลการปฏิบัติงานตามโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ (µ = 4.83) และมีการรับฟังความคิดเห็นของครู นักเรียนและชุมชน และนำข้อมูลมาพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในระหว่างการดำเนินงาน (µ = 4.75) ตามลำดับ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน มีความเห็นต่อการดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองงูเห่า ด้านผลผลิต โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.69)
เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ อาคารเรียนมีความสะอาด เรียบร้อย มั่นคงปลอดภัย สามารถปฏิบัติการ ด้านการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (µ = 4.95) รองลงมา คือ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจมีความร่มรื่น สะอาด สวยงาม ปลอดภัย และมีภูมิทัศน์เหมาะสมตามธรรมชาติ (µ = 4.93) และถนนภายในโรงเรียนสะอาด สวยงาม ปลอดภัย และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (µ = 4.87) ตามลำดับ
5. ด้านความพึงพอใจ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน มีความเห็นต่อการดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียน บ้านหนองงูเห่า ด้านความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.73)
เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวม (µ = 4.90) รองลงมา คือความพึงพอใจในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายนอกอาคาร (µ = 4.89) และความพึงพอใจในการใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน (µ = 4.85) ตามลำดับ