ชื่อเรื่อง : การพัฒนาทักษะการเขียนตัวอักษรจีนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6
ชื่อผู้เขียน : นางอมราภัสร์ บุณยสิทธิ์เศวต
ปีการศึกษา : 2563
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดลองใช้ชุดแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนสำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนเขียนตัวอักษรจีนไม่ถูกต้อง และเพื่อศึกษาผลการพัฒนาการด้านการเขียนตัวอักษรจีนของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6 โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ จำนวน 39 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีน และ แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีน
ผลการวิจัย พบว่า ชุดฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนได้จัดเนื้อหา และรูปแบบของแบบฝึกทักษะการเขียนอักษรจีนอย่างสวยงาม น่าอ่าน ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกในการฝึกทักษะการเขียน ได้ฝึกเขียนบ่อย ๆ ทำให้ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการเขียนรายบุคคลมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ การแก้ไขปัญหานักเรียนเขียนตัวอักษรจีนไม่ถูกต้อง พบว่า เมื่อผู้เรียนเข้าใจในเรื่องลำดับขีด และมีความรู้พื้นฐานในการเขียนอักษรจีนแล้ว นักเรียนส่วนมากมีความสนใจและตั้งใจปฏิบัติกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของแบบฝึกทักษะ ทำให้ผลการเขียนตัวอักษรจีนพัฒนามากยิ่งขึ้น ผลการพัฒนาการด้านการเขียนตัวอักษรจีนของนักเรียน พบว่า คะแนนแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนของนักเรียนมีการพัฒนาขึ้นทุกครั้งในการทำแบบฝึก จากการที่กิจกรรมในแบบฝึกทักษะเป็นที่น่าสนใจ ภาษาที่ใช้ในแบบฝึกมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาการเขียนของตนเอง
การศึกษาวิจัยเรื่อง “เรื่องการพัฒนาทักษะการเขียนตัวอักษรจีนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการเขียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6 โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ จังหวัดสงขลา” สามารถอภิปรายผลได้ดังนี้
1.จากผลการทดลองใช้ชุดแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6 พบว่า ผลของการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการเขียนรายบุคคลมีค่าเท่ากับ 78.09/76.14 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เป็นเพราะชุดแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนที่สร้างขึ้นผ่านขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ผู้วิจัยนำชุดแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนและผ่านการปรับปรุงแก้ไขทางด้านภาษา เนื้อหา ให้ถูกต้องตามคำแนะนำ และได้จัดเนื้อหา และรูปแบบของแบบฝึกทักษะการเขียนอักษรจีนอย่างสวยงาม น่าอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับ หลี่หยาง และมาเรียม นิลพันธุ์ (2554:บทคัดย่อ) ที่กล่าวว่า การพัฒนาแบบฝึกทักษะตัวอักษรจีนต้องมีรูปภาพมีสีสันและสวยงาม ภาษาที่ใช้อธิบายเข้าใจง่าย สอดแทรกกิจกรรมที่หลากหลาย คำนึงถึงลักษณะของตัวอักษรจีน ซึ่งจากการจัดรูปแบบของแบบฝึกให้สวยงามน่าอ่านนี้ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกในการฝึกทักษะการเขียน ได้ฝึกเขียนบ่อย ๆ ซึ่งสอดคล้องกับ อรอนงค์ วิริยะไกรกุล (2558:บทคัดย่อ) ที่กล่าวไว้ว่า การให้นักเรียนฝึกทำบ่อย ๆ นั้น ช่วยให้นักเรียนสามารถเขียนตัวอักษรจีนตามลำดับขีดได้ถูกต้องเกินกว่าร้อยละ 75
2.จากผลการแก้ไขปัญหานักเรียนเขียนตัวอักษรจีนไม่ถูกต้อง พบว่า เมื่อผู้เรียนเข้าใจในเรื่องลำดับขีด และมีความรู้พื้นฐานในการเขียนอักษรจีนแล้ว ผู้เรียนส่วนมากมีความสนใจและตั้งใจปฏิบัติกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของแบบฝึกทักษะ นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยของคะแนนทดสอบวัดทักษะการเขียนตัวอักษรจีนก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับ จินตนา แย้มละมุล (2557:บทคัดย่อ) ที่กล่าวว่า การฝึกเขียนคัดศัพท์ภาษาจีน จะทำให้สามารถจำขั้นตอนการเขียนได้โดยอัตโนมัติ เพียงแต่ครั้งแรกของการเริ่มคัดตัวอักษรจีน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดให้ถูกต้องตามหลักภาษาจีน และเรียนรู้ระบบของการเขียนอักษรจีนให้เข้าใจ จะทำให้เราเกิดความเข้าใจ และอยากที่จะเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัญหาในการเขียนอักษรจีนของนักเรียน ส่วนมากมาจากการไม่เข้าใจ และการขีดเส้นที่ผิดแปลกไป จากที่เขียนตามรูปที่พบเห็นจากการเขียนพู่กันจีนทำให้เส้นขีดมีความผิดพลาดได้ง่านที่สุด สอดคล้องกับ ภูมรินทร์ ภิรมย์เลิศอมร (2555:บทคัดย่อ) ที่สรุปไว้ว่าในด้านการเขียนภาษาจีนเส้นขีดมีอัตราการผิดพลาดมากที่สุด ดังนั้นการแก้ไขปัญหานักเรียนเขียนตัวอักษรจีนไม่ถูกต้อง จึงควรเริ่มจากการปูพื้นฐานในเรื่องการเขียนอักษรจีน
3.จากผลการพัฒนาการด้านการเขียนตัวอักษรจีนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6 พบว่า คะแนนแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนของนักเรียนมีการพัฒนาขึ้นทุกครั้งในการทำแบบฝึก จากการที่กิจกรรมในแบบฝึกทักษะเป็นที่น่าสนใจ ภาษาที่ใช้ในแบบฝึกมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาการเขียนของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับ หลี่หยาง และมาเรียม นิลพันธุ์ (2554:บทคัดย่อ) ที่สรุปไว้ว่า นักเรียนมีทักษะทางการเขียนตัวอักษรจีนสูงกว่าก่อนเรียน เนื่องจากกิจกรรมในแบบฝึกทักษะน่าสนใจ ภาษาในแบบฝึกชัดเจนเข้าใจง่าย ภาพประกอบสวยงาม มีการเรียงลำดับขั้นตอนจากง่ายไปยาก กล่าวคือ การที่จะพัฒนาทักษะการเขียนของนักเรียนนั้น การจัดเนื้อหาควรมีรูปแบบที่น่าสนใจ ตามธรรมชาติของผู้เรียน การจัดเนื้อหาการสอนควรสอนตามกฎเกณฑ์ในการเขียนอักษร เพื่อง่ายต่อการเข้าใจและประยุกต์ใช้ในอนาคต และควรมีการทบทวนอยู่เสมอ สอดคล้องกับ จินตนา แย้มละมุล (2557:บทคัดย่อ) ที่กล่าวว่า การฝึกเขียนคัดศัพท์ภาษาจีน จะทำให้สามารถจำขั้นตอนการเขียนได้โดยอัตโนมัติ และการทบทวนควรเหมาะสมกับตัวนักเรียน เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียน