๑.๑ ชื่อนวัตกรรม
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะทางด้านวิทยาศาสตร์ในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย
๑.๒ มูลเหตุจูงใจในการสร้างนวัตกรรม
เกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนชั้นอนุบาล ๓ ที่มีการใช้เก้าอี้พลาสติกเคลื่อนย้ายไปมาส่งผลให้มีเสียงกระทบกับพื้นและรบกวนน้องอนุบาล ๒ ที่อยู่ด้านล่าง ส่งผลให้เด็กในระดับชั้นอนุบาล ๓ คิดแก้ปัญหาในการลดเสียงกระทบกับพื้นให้น้อยที่สุด จึงมุ่งศึกษาการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยมาใช้ในการแก้ปัญหาในครั้งนี้
๑.๓ กระบวนการในการออกแบบและสร้างนวัตกรรม
๑.๓.๑ กำหนดกลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กปฐมวัยอายุระหว่าง ๕ ๖ ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในอนุบาลปีที่ ๓
๑.๓.๒ ใช้กระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ดังขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑ ตั้งคำถามที่อยากรู้
ขั้นที่ ๒ รวบรวมความคิดและคาดคะเนคำตอบ
ขั้นที่ ๓ ทดสอบและปฏิบัติการสืบเสาะ
ขั้นที่ ๔ สังเกตและการบรรยาย
ขั้นที่ ๕ บันทึกผล
ขั้นที่ ๖ สรุป และอภิปรายผล
๑.๔ การนำนวัตกรรมสู่การปฏิบัติ
ขั้นที่ ๑ ตั้งคำถามที่อยากรู้ โดยเด็ก ๆ ร่วมกันตั้งคำถามว่า เราสามารถสร้างเก้าอี้เองได้ไหม โดยครูเป็นผู้ช่วยเสริมและกระตุ้นความคิดของเด็ก ๆ
ขั้นที่ ๒ รวบรวมความคิดและคาดคะเนคำตอบ โดยให้เด็กร่วมกันวางแผน ออกแบบชิ้นงาน
และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์
ขั้นที่ ๓ ทดสอบและปฏิบัติการสืบเสาะ เด็ก ๆ นำอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามที่วางแผนมารวมกัน แล้วลงมือ
สร้าง เก้าอี้ ตามขั้นตอนที่วางแผนไว้
ขั้นที่ ๔ สังเกตและการบรรยาย เมื่อเด็ก ๆ ร่วมมือกันสร้างเก้าอี้จนสำเร็จ และเด็ก ๆ นำเก้าอี้ไปทดลองปล่อยตามจุดที่กำหนดเพื่อฟังเสียงขณะเก้าอี้กระทบกับพื้น โดยเปรียบเทียบระหว่างเก้าอี้ที่เด็ก ๆ สร้างกับเก้าอี้ที่ใช้ปัจจุบัน
ขั้นที่ ๕ บันทึกผล เด็ก ๆ ร่วมกันบันทึกผลเสียงเก้าอี้ที่ได้ยิน โดยเปรียบเทียบระหว่างเสียงของเก้าอี้ที่ใช้ปัจจุบัน กับเก้าอี้ที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นเอง จำนวน ๓ ครั้ง
ขั้นที่ ๖ สรุป และอภิปรายผล เมื่อเด็ก ๆ ทดลองปล่อยเก้าอี้ที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นเอง ให้ตกลงกระทบกับพื้น สรุปว่า เก้าอี้ที่เด็ก ๆ สร้าง ขึ้นมีเสียงเบากว่าเก้าอี้ที่เด็ก ๆ ใช้ในปัจจุบัน ทั้ง ๓ ครั้ง
๑.๕ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน
จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะทางด้านวิทยาศาสตร์ในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยนั้นส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมการแก้ปัญหาในขณะทำกิจกกรรมได้ โดยปัญหามาจากการเกิดเสียงดังของเก้าอี้ในชั้นเรียน นำไปสู่การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา และส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้
๑. ทักษะการสังเกต
- การสังเกตวัสดุสิ่งของที่อยู่รอบตัว เพื่อนำไปใช้ในการทดลอง
- การสังเกตเสียงของเก้าอี้
๒. ทักษะการวัด
- เด็กวัดระดับความสูงของเก้าอี้ที่จะสร้างได้
เด็กวัดความกว้างของผ้าพรมเช็ดเท้าให้พอดีกับกระดาษลังได้
๓. ทักษะการคำนวณ
เด็กนับจำนวนขวดน้ำพลาสติกที่นำมาใช้ในการสร้างเก้าอี้ได้
๔. ทักษะการจำแนกประเภท
- เด็กเปรียบเทียบสิ่งของที่นำมาใช้ในการสร้างเก้าอี้ได้
๕. ทักษะการพยากรณ์หรือการคาดคะเนคำตอบ
- เด็กคาดคะเนวัสดุที่ใช้ในการสร้างเก้าอี้ได้
- เด็กคาดคะเนว่าเก้าอี้ที่สร้างขึ้น สามารถลดการเกิดเสียงและใช้งานได้จริง
๖. ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส
เด็กบอกได้ว่าควรวางขวดน้ำพลาสติกให้มีระยะห่างของแต่ละขวดเท่าใด จึงจะพอดีกับ
กระดาษลัง
๗. ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล
- การรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต เปรียบเทียบ และแสดงความคิดเห็นว่าต้องใช้วัสดุใด ใน
การสร้างเก้าอี้ที่ช่วยลดการเกิดเสียงได้
- เด็กออกแบบร่วมกัน และกำหนดวัสดุ ขั้นตอนในการสร้างเก้าอี้
- เด็กลงมือสร้างเก้าอี้จากแนวคิดของเด็กร่วมกับผู้ปกครอง และนำไปทดลองใช้ในห้องเรียน
ซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดเสียงได้
- เด็กบันทึกข้อมูลลงในตารางผลการทดลองปล่อยเก้าอี้
๘. ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล
- เด็กสามารถสรุปผลจากการทดลองได้ว่า เก้าอี้ที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นมีเสียงเบากว่าเก้าอี้ที่เด็ก ๆ
ใช้ในปัจจุบัน
๑.๖ สรุปผลการจัดทำนวัตกรรม
ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะทางด้านวิทยาศาสตร์ในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๓ โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง(อำนาจคณูปถัมภ์) ที่มีพฤติกรรมการแก้ปัญหาในขณะทำกิจกรรมโดยสามารถนำกระบวนการและทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จนสำเร็จ
๑.๗ ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมต่อการจัดการเรียนรู้
จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะทางด้านวิทยาศาสตร์ในการคิด
แก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการวางแผนก่อนการทำกิจรรม ระหว่างทำกิจกรรม นำไปสู่การปฏิบัติจริงที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการสอนแบบแก้ปัญหาของ จอห์น ดิวอี้ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนวิธีการแก้ปัญหาต่างๆที่พบในชีวิตประจำวัน โดยการให้รางวัลหรือการกล่าวชื่นชม เมื่อเด็กได้มีโอกาสแสดงออกทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้อย่างสำเร็จ