ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของโรงเรียนบ้านเจริญสุข สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ในปีการศึกษา 2563
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวณัฐกฤตา บุตรแพ
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของโรงเรียนบ้านเจริญสุข สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ในปีการศึกษา 2563 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปัจจัยพื้นฐาน (Inputs : I) กระบวนการ (Process : P) ผลผลิต (Outputs : O) และผลลัพธ์ (Outcomes : O) ของโครงการโดยใช้รูปแบบ การประเมินโป (IPOO) ของ พิสณุ ฟองสี (2549 : 77) ประชากรที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านเจริญสุข สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร รวมทั้งสิ้นจำนวน 96 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบเก็บข้อมูล จำนวน 5 ฉบับ และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินภาพรวมของโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของโรงเรียนบ้านเจริญสุข สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ในปีการศึกษา 2563 เป็นการประเมินโครงการ 4 ด้าน คือ ประเมิน ด้านปัจจัยพื้นฐาน (Inputs : I) ด้านกระบวนการ (Process : P) ด้านผลผลิต (Outputs : O) และ ด้านผลลัพธ์ (Outcomes : O) พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ด้าน โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยพื้นฐาน และด้านด้านผลลัพธ์ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยพื้นฐาน (Inputs : I) ในภาพรวม พบว่า ระดับความเหมาะสม/ เพียงพอ อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความเหมาะสม/ เพียงพอ อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 3 ด้าน และอยู่ในระดับมาก จำนวน 1 ด้าน โดยด้านที่มีระดับความเหมาะสม/ เพียงพอมากที่สุด คือ ด้านรูปแบบการบริหารที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรม รองลงมา ได้แก่ ด้านความเพียงพอ ของทรัพยากร อุปกรณ์ อาคารสถานที่ และด้านความพร้อมของบุคลากร ส่วนด้านที่ระดับ ความเหมาะสม/ เพียงพอ น้อยที่สุด คือ ด้านความเหมาะสมและความเพียงพอด้านงบประมาณ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process : P) ในภาพรวม พบว่า ระดับ การปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยด้านที่มีระดับการปฏิบัติมากที่สุด คือ ด้านการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผล (Check) รองลงมา ได้แก่ ด้านการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานและรายงานผล (Act) ส่วนด้านที่ระดับระดับการปฏิบัติน้อยที่สุด คือ การวางแผน (Plan) และด้านการดำเนินงานตามกระบวนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) (DO)
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Outputs : O) ในภาพรวม พบว่า ระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีระดับการปฏิบัติมากที่สุด คือ ระดับการปฏิบัติการสอนของครู ส่วนด้านที่มีระดับการปฏิบัติน้อยที่สุด คือ คุณภาพนักเรียนตามมาตรฐาน
5. ผลการประเมินด้านผลลัพธ์ (Outcomes : O) ในภาพรวม พบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 13 ข้อ และมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก จำนวน 7 ข้อ โดยข้อที่มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ ผู้บริหารให้กำลังใจ และส่งเสริมครูผู้สอนให้ปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด รองลงมาคือ ผู้บริหารให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการจัดตั้งงบประมาณสำหรับจัดทำ สื่อการสอน และครูประเมินผลอย่างยุติธรรม ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีระดับความพึงพอใจน้อยที่สุด คือ ครูส่งเสริมให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดหรือแหล่งอื่น ๆ