ชื่อผลงาน : การประเมินโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียน
วัดควนชะลิก
ผู้ประเมิน : นางสุทธิรา สมเนียม
ปีที่ประเมิน : 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนวัดควน
ชะลิก มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน เพื่อประเมินด้านบริบท (Contexts Evaluation) ของโครงการ เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Inputs Evaluation) ของโครงการ เพื่อประเมินด้านกระบวนการ (Processes Evaluation) ของโครงการ เพื่อประเมินด้านผลผลิต (Products Evaluation) ของโครงการ ซึ่งประเมินในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และด้านความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ โดยมีประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการทั้งสิ้น 215 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 94 คน ผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 94 คน ซึ่งการเลือกกลุ่มตัวอย่าง เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย แบบประเมิน จำนวน 5 ฉบับ เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ได้แก่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ในการประเมินใช้วิธีประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model ) ได้แก่ การประเมินก่อนดำเนินโครงการ โดยการประเมินด้านบริบท และด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ การประเมินขณะดำเนินโครงการโดยการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ และการประเมินหลังสิ้นสุดโครงการ โดยการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ประเมินโครงการ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1.ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียงโรงเรียนวัดควนชะลิก ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการประเมินพบว่า รายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การดำเนินโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถแก้ปัญหาด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนได้ รองลงมา คือ โครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และปัญหาด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ตามลำดับ ส่วนรายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพัฒนานักเรียนให้รู้จักใช้สติปัญญา มีความรอบรู้ รอบคอบในการคิดและการพูด
2.ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียงโรงเรียนวัดควนชะลิก ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการประเมินพบว่า รายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมของโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของโรงเรียน รองลงมา คือ ครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการมีความเหมาะสม ตามลำดับ ส่วนรายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งอื่น
3.ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียงโรงเรียนวัดควนชะลิก ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการประเมินพบว่า รายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ บุคลากร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ วางแผนการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมตามโครงการ รองลงมา คือ การดำเนินงานครบทุกกิจกรรมและเป็นไปตามระยะ เวลาที่กำหนด มีความต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตามลำดับ ส่วนรายการที่ผลการประเมิน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไป
4.ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียงโรงเรียนวัดควนชะลิก
4.1ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน ด้านที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือด้านปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาด้านความรู้ ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และตระหนักในความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนด้านที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านมีความรู้ และทักษะ พื้นฐานในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4.2 ด้านความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ หลังสิ้นสุดโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการประเมิน พบว่า รายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ หลังสิ้นสุดโครงการนักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเป็นประโยชน์ ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและชุมชน ตามลำดับ ส่วนรายการที่ผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการ