ชื่อผลงาน รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียน
โรงเรียนบ้านแม่จองไฟ(รัฐราษฎร์พัฒนา)
ชื่อผู้รายงาน นายอัศวิน งามดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา)
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ(รัฐราษฎร์พัฒนา) ด้านสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) จำนวน 15 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 94 คน และนักเรียน จำนวน 94 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น จำนวน 4 ฉบับ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) คือ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) 5 ระดับ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการประเมิน
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) ด้านสภาพแวดล้อม (Context) พบว่า โดยรวมมีค่าเฉลี่ยในระดับมาก ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การตัดสิน โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1. โครงการมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจของโรงเรียน 2. โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. โครงการเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน ตามลำดับ
2. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input) ในภาพรวม ผู้บริหาร ครู บุคลากรและคณะกรรมการสถานศึกษามีความเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมาก ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การตัดสิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า 1. บุคลากรทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินโครงการ 2. โรงเรียนจัดทำแผนการดำเนินโครงการไว้อย่างชัดเจน 3. อาคารสถานที่ พื้นที่ในการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการมีความเหมาะสม ตามลำดับ
3. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า โดยรวมมีค่าเฉลี่ยในระดับมาก ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การตัดสิน โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก พบว่า 1. จัดบุคลากรรับผิดชอบกิจกรรมในโครงการได้อย่างเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ 2. กำหนดขั้นตอน รายละเอียดและวิธีดำเนินโครงการอย่างชัดเจนและเหมาะสม 3. ดำเนินโครงการตามแผนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
4. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) ด้านผลผลิต (Product) พบว่า ระดับความคิดเห็นด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) ในภาพรวมนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากร และคณะกรรมการสถานศึกษา มีความเห็นโดยรวมมีค่าเฉลี่ยในระดับมาก ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การตัดสิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า 1. นักเรียนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนที่มีจิตสาธารณะมากขึ้น 2. นักเรียนช่วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ทำงานด้วยความเต็มใจมากขึ้น 3. นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และ สังคมมากขึ้นตามลำดับ