บทคัดย่อ
หัวข้อรายงาน รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน และการเขียน ของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ปีการศึกษา 2563
ชื่อผู้รายงาน นางสาววรรยุภา ระดาดาษ
ปีการศึกษา 2563
การประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน ของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ปีการศึกษา 2563 กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้ 1) เพื่อประเมินโครงการโดยใช้รูปแบบจำลองซิปป์โมเดล (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีมและคณะ (Daneil L. Stufflebeam and Others.) ประกอบด้วยด้านสภาพแวดล้อม (Context evaluation) ปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) กระบวนการ (Process evaluation) และผลผลิต (Product evaluation) 2) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน ของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ปีการศึกษา 2563 3) เพื่อประเมินความสำเร็จของนักเรียน ดังนี้ 3.1) การประเมินทักษะการอ่านและการเขียน โดยใช้แบบคัดกรองการอ่านออกเขียนได้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 3.3) การประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 3.4) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ 1) ครูโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ปีการศึกษา 2563 จำนวน 7 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน 3) นักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 73 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 73 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 160 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามจำนวน 5 ฉบับ เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้ 1) ค่าเฉลี่ย (µ) 2) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( )
ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด 3 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านสภาพแวดล้อม รองลงมาคือ ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากคือ ด้านผลผลิต ปรากฏดังต่อไปนี้
1. การวิเคราะห์ข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ผลการประเมิน การดำเนินการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือ โรงเรียนกำหนดโครงการและกิจกรรมที่พัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียน อย่างชัดเจน ครอบคลุม ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ โรงเรียนสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ ให้กับบุคลากร ผู้เกี่ยวข้องในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการอ่านและการเขียน
2. การวิเคราะห์ข้อมูลด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ผลการประเมินการดำเนินการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือ บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และแนวปฏิบัติในการดำเนินงานเป็นอย่างดี และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ จำนวนบุคลากรมีความเพียงพอและเหมาะสมต่อการดำเนินงาน
3. การวิเคราะห์ข้อมูลด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ผลการประเมินการดำเนินการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือความเหมาะสมของกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ โรงเรียนร่วมมือกับหน่วยงาน ชุมชนในการประชุมวางแผนเพื่อกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการร่วมกัน
4. การวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลผลิต (Product Evaluation) ผลการประเมินการดำเนินการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือ นักเรียนสามารถแต่งคำคล้องจองและบทร้อยกรองได้ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ นักเรียนสามารถจัดทำหนังสือเล่มเล็กได้
ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำคลุ้ง ปีการศึกษา 2563 ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือรูปแบบการจัดกิจกรรมน่าสนใจ มีความหลากหลาย สนุกสนาน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ เวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรมเหมาะสม
ผลการประเมินความสำเร็จของนักเรียน
1. ผลการประเมินทักษะการอ่านและการเขียน โดยใช้แบบคัดกรองการอ่านออกเขียนได้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีผลการประเมินทักษะการอ่าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.64 และมีผลการประเมินทักษะการเขียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.57
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 พบว่านักเรียนมีผลคะแนนรวมเฉลี่ยทุกระดับชั้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.05
3. ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) พบว่านักเรียนมีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test :RT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.36
4. ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) วิชาภาษาไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.50และรวมทั้ง 4 วิชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.60