บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อผลงาน การประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต อำเภอกาญจนดิษฐ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1
ผู้ประเมิน นางสาวปูริดา จิระพันธ์ทวีวงศ์
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนนิมิต
ปีการศึกษา 2563
รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต 3) เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต โดยการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ของของแดเนียล สตัฟเฟิลบีม (DanielL.Stufflebeam) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 1 คน และครูผู้สอนจำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 5 ชุด โดยชุดที่ 1 มีค่าความเชื่อมั่น 0.86 ชุดที่ 2 มีค่าความเชื่อมั่น 0.83 ชุดที่ 3 มีค่าความเชื่อมั่น 0.97 ชุดที่ 4 มีค่าความเชื่อมั่น 0.80 และชุดที่ 5 มีค่าความเชื่อมั่น 0.91 ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสอบถาม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินผลการประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุราษฎร์ธานี เขต 1 พบว่า การใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน มีประเด็นสำคัญที่นำมาอภิปรายดังนี้
1. การประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน จากมากไปน้อย คือ ด้านผลผลิต ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านบริบท และด้านกระบวนการ ตามลำดับ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ในปัจจุบันนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการมีการกำหนดให้มีระบบการนิเทศแนวใหม่กลไกปฏิรูปการศึกษาขึ้น (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2553 : 1-2) หน่วยงานต้นสังกัดในระดับเขตพื้นที่การศึกษาจึงมีนโยบายให้มีการนิเทศติดตามดูแลโรงเรียนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ยังได้กำหนดให้การนิเทศภายในเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินด้วย ดังนั้น โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 จึงปฏิบัติด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญในการจัดทำโครงการนิเทศภายในโรงเรียน โดยมีการกำหนดมาตรฐานการดำเนินโครงการขึ้นอย่างเป็นระบบ ทำการวางแผนการนิเทศภายในที่สอดคล้องพื้นฐานของปัญหาและความต้องการของโรงเรียน รวมทั้งบุคลากรทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ด้วย ดังที่นันทวดี พุ่มเกิด (2556 : 13) กล่าวว่า การนิเทศการศึกษานั้นเป็นกระบวนการที่นำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันในบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์อัดนดีระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ในการแนะนำช่วยเหลือ ส่งเสริมเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอันส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของรำไพ งิ้วไชยราช (2559) ที่ทำการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 8 สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL พบว่า การประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ด้าน
2. การประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 บริบท โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ให้ความสำคัญกับการนิเทศภายในโรงเรียนอย่างมาก จึงมีการจัดทำเอกสารเผยแพร่ จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิชาการและครูผู้สอนเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศภายในอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิชาการและครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ การนิเทศเป็นอย่างมาก โดยที่ผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ได้นำมาเป็นแนวทางการดำเนินงานการนิเทศภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดประชุมชี้แจงนโยบายการนิเทศภายในให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบโครงการนิเทศภายในโรงเรียนอย่างชัดเจน เน้นให้บุคลากรทุกคนภายในโรงเรียนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการนิเทศภายในอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ ดังที่ศิริรัตน์ ชินบุตร (2555 : 25) กล่าวว่า เงื่อนไขที่จะทําให้การจัดการนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียนประสบความสําเร็จนั่นคือ ผู้บริหารการศึกษาที่รับผิดชอบต่อการกําหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของโรงเรียนนั้นจะต้องให้ความสําคัญกับงานนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียน โดยถือว่างานนิเทศการศึกษาเป็นงานที่โรงเรียนจะต้องถือปฏิบัติ งานการนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียน ช่วยให้โรงเรียนสามารถดําเนินการตามนโยบายที่ได้กําหนดไว้ ช่วยให้บุคลากรของโรงเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานและเป็นการสร้างเสริมกําลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสุดใจ ฝูงใหญ่ (2562) ที่ทำการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนอนุบาลบางละมุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 พบว่า ด้านสภาวะแวดล้อม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน
2.1 ด้านความจำเป็นของการจัดทำโครงการ โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีวัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจนเข้าใจง่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ก่อนการดำเนินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ได้ร่วมประชุมกันเพื่อทำการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและปัญหาของโรงเรียนรวมถึงความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริงของโรงเรียน เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการซึ่งจะดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดังที่กระทรวงศึกษาธิการ (2553 : 29) ที่ว่ากระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน ควรเริ่มจากการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ เพื่อที่จะนําข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา สาเหตุของปัญหาและความต้องการ เพื่อนำมากำหนดกิจกรรมและแนวทางการปฏิบัติงานนิเทศในโรงเรียน การวางแผนนิเทศภายในโรงเรียนเป็นขั้นตอนที่นําทางเลือกที่จะดําเนินการมารวมกันกำหนดรายละเอียด กิจกรรม และจัดลําดับขั้นตอนการปฏิบัตินำมาเขียนเป็นโครงการนิเทศภายในโรงเรียน
2.2 ด้านความเป็นไปได้ของโครงการ โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ บุคลากรของโรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 อาจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศภายในที่ต่างกัน นอกจากนั้นโรงเรียนยังให้ความสำคัญในเรื่องของการทำงานเป็นทีมต้องการให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้วย ดังนั้นโรงเรียนจึงมีการจัดประชุมเพื่อการสื่อสารให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกันในการดำเนินงานเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ วีวีระศักดิ์ ชมพูคำ (2550 : 146) กล่าวว่าภายในโรงเรียนย่อมมีครูที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน การที่จะลดช่องว่างดังกล่าวผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องนิเทศภายในโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะทำให้ลดช่องว่างดังกล่าวแล้วยังทำให้การปฏิบัติงานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการนิเทศภายในโรงเรียนเป็นกระบวนการในการปฏิบัติงานที่ผู้บริหารและครูอาจารย์ ในโรงเรียนร่วมมือกันจัดขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนในทางที่จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้น การนิเทศภายในโรงเรียนอีกนัยหนึ่งก็คือ การบริหารโรงเรียนโดยให้บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมนั่นเอง การบริหารโรงเรียนจะบรรลุตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของคณะครูภายในโรงเรียนเป็นสำคัญ การที่จะให้คณะครูร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถนั้นผู้บริหารย่อมอาศัยวิธีการแบบต่างๆ เข้ามาช่วยดำเนินงานเพื่อให้การบริหารงานโรงเรียนได้บรรลุตามเป้าหมาย
2.3 ด้านความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษามีการประสานงานกับบุคลากรภายนอกโรงเรียนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนบุคลากรภายในโรงเรียนที่จำกัด ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงตระหนักเห็นว่าการที่ครูจะได้รับการพัฒนาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้นั้น ควรได้รับการช่วยเหลือจากบุคลากรภายนอกด้วย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับครูในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ครูจะได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วน ดังที่ ศานิต โหนแหย็ม (2560 : 115) กล่าวว่าการเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติในระบบการนิเทศการศึกษาบุคลากรทางการนิเทศจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความสามารถในการเรียนการสอนและเทคนิคการนิเทศมีพฤติกรรมการนิเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาครู ดังนั้นในระบบการนิเทศการศึกษานอกจากอาศัยบุคคลผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้บริหารที่เป็นผู้สนับสนุน ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศแล้ว ในการจัดทำการนิเทศจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเอื้ออำนวยและสนับสนุนการนิเทศอื่นๆ ซึ่งได้แก่ สื่อการนิเทศแหล่งเรียนรู้ นวัตกรรมการเรียนการสอน และแหล่งสนับสนุนการพัฒนาครู การสนับสนุนส่งเสริมให้ครูได้ร่วมกันทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การเข้าร่วมประชุมสัมมนา การพัฒนาผลงานทางวิชาการและการศึกษาดูงาน ซี่งสิ่งเหล่านี้สถานศึกษาจะต้องจัดเตรียม เพื่อส่งเสริมในการจัดทำในระบบการนิเทศ เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของระบบและส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
3. การประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ปัจจัยนำเข้า โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีการดำเนินโครงการนิเทศภายในโรงเรียน มาอย่างต่อเนื่อง บุคลากรทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตลอดมา ดังนั้นในการกำหนดปัจจัยนำเข้าไม่ว่าจะเป็นบุคลากร งบประมาณ และระยะเวลาในการดำเนินงาน จึงสามารถกำหนดได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและกิจกรรมของโครงการ ดังที่สุดใจ ฝูงใหญ่ (2556 : 13-14) ว่าการที่โรงเรียนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนในแต่ละกิจกรรมควรคำนึงถึงความพร้อมและความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ เวลา และงบประมาณของกิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรีย จึงจะสามารถเลือกปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสุกรรณ ทองแบบ (2556) ทำการศึกษาสภาพดำเนินงานของโครงการนิเทศภายในโรงเรียน เทศบาล 2 (วัดช่องลม) สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี พบว่า ด้านปัจจัยนำเข้า อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน
3.1 ด้านบุคลากรมีความพร้อมทางความรู้ทักษะด้านการนิเทศภายใน โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษามีความรู้และเข้าใจการดำเนินการนิเทศภายใน มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ การนิเทศภายในถือว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะต้องปฏิบัติภายในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้ครูสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้ที่ต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรเป็นผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 จัดว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงนับว่าเป็นบุคลากรที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนการนิเทศภายในโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านควนนิมิตมีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมความรู้เกี่ยวกับการนิเทศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคลากรที่มีความพร้อมในการที่จะเป็นผู้ให้การนิเทศที่มีคุณภาพ ดังที่ศานิต โหนแหย็ม (2560 : 114) กล่าวว่าการเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติในระบบการนิเทศการศึกษาบุคลากรทางการนิเทศจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความสามารถในการเรียนการสอน และเทคนิคการนิเทศมีพฤติกรรมการนิเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาครูและตระหนักว่าคุณภาพอยู่ที่ผู้เรียนผู้ที่มีความสำคัญในการสร้างคุณภาพ คือ ครูและผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดคุณภาพได้นั้นคือ ผู้นิเทศที่มีความพร้อม มีความสามารถและความตระหนักต่อภารกิจการนิเทศการศึกษาจะสามารถปฏิบัติภารกิจ การนิเทศในสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จได้ สำหรับในสถานศึกษาขนาดเล็ก ผู้ที่มีบทบาทใน การนิเทศเป็นหลัก คือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่จะต้องทำการนิเทศโดยอาจใช้หลักการแบบมีส่วนร่วม ให้ครูร่วมเป็นทีมการนิเทศเทคนิคที่ใช้อาจประยุกต์ในการนิเทศแบบเพื่อนร่วมพัฒนา เพื่อนนิเทศเพื่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในสถานศึกษาขนาดใหญ่ระบบการนิเทศอาจมีโครงสร้างการทำงานที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยอาจมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นลำดับชั้น ซึ่งผู้บริหารอาจต้องพัฒนาหรือส่งเสริมให้ครูหรือผู้รับผิดชอบเหล่านั้นมีความพร้อมเพียงพอที่จะร่วมผลักดันงานนิเทศการศึกษาตามระบบที่จัดเตรียมไว้ โดยอาจสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้หรือจัดแนวทางการพัฒนาในขณะปฏิบัติงาน
3.2 ด้านระยะเวลาในการดำเนินงาน โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษามีการนิเทศ กำกับ ติดตามให้ทุกฝ่ายดำเนินงานโครงการนิเทศภายในเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ โครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีการจัดทำเป็นปฏิทินการปฏิบัติงานของโครงการ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปฏิทินการปฏิบัติงานของผู้รับการนิเทศ ปฏิทินการปฏิบัติงานของผู้ให้การนิเทศ และปฏิทินการปฏิบัติงานของผู้สนับสนุนการนิเทศ และมีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงปฏิทินการดำเนินงานอย่างละเอียด โดยที่มีผู้บริหารสถานศึกษากำกับดูแลให้โครงการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้อีกด้วย ดังที่ กรองทอง จิรเดชากุล (2550 : 5 - 6) กล่าวว่า บทบาทและภารกิจของผู้บริหารเกี่ยวกับการนิเทศ คือบทบาทในการติดตามประเมินผลซึ่งจะช่วยให้ครูพัฒนาศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะนำผลการประเมินที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
3.3 ด้านงบประมาณ โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวัสดุ สื่ออุปกรณ์จากหน่วยงานต้นสังกัด มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีนโยบายเพื่อการนิเทศภายในและได้จัดทำแผนงบประมาณประจำปีเพื่อสนับสนุนการนิเทศภายในของสถานศึกษาภายในสังกัดไว้ ดังนั้นโรงเรียนบ้านควนนิมิต เมื่อทำโครงการนิเทศภายในโรงเรียนจึงได้รับการสนับสนุนจากต้นสังกัดอย่างเต็มที่ทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ดังที่มาร์คส และสทูปส (Marks and Stoops, 1978) ได้กำหนดหลักการสําคัญของการนิเทศเบื้องต้นไว้ว่า จะต้องมีการจัดให้มีงบประมาณด้านการนิเทศไว้ในงบประมาณประจําปี
4. การประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 กระบวนการ โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ โครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีการนําข้อมูลผลการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาสาเหตุของปัญหาและความต้องการมากำหนดกิจกรรมและแนวทางการปฏิบัติงานนิเทศ โดยร่วมกันวางแผนนิเทศภายในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน ส่งผลให้กระบวนการในการดำเนินงานของโครงการสามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังที่อัมพวรรณ สิริรักษ์ (2560 : 369) กล่าวว่า การจัดการนิเทศภายในโรงเรียนจะมีประสิทธิภาพได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน ประกอบไปด้วย การศึกษาสภาพและความต้องการการนิเทศภายในโรงเรียน การวางแผนการนิเทศ การสร้างสื่อและเครื่องมือการนิเทศการปฏิบัติ การนิเทศ และการประเมินและรายงานผลการนิเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของรำไพ งิ้วไชยราช (2559) ทำการวิจัยเรื่องการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 8 สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL พบว่า ด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน
4.1 ด้านกิจกรรมดำเนินงาน โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้นิเทศให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้รับการนิเทศเป็นรายบุคคล มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 เป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถดำเนินงานนิเทศได้อย่างทั่วถึง สามารถลงรายละเอียดเป็นรายบุคคลได้ เนื่องจากผู้ให้การนิเทศและผู้รับการนิเทศมีความใกล้ชิด มีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน และสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจ การสนับสนุนซึ่งกันและกัน และความผูกพันในการพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน โดยไม่รู้สึกว่าถูกจับผิดหรือถูกตำหนิ ดังที่ ศานิต โหนแหย็ม (2560 : 116) กล่าวว่าการจัดบรรยากาศที่เป็นมิตรและการเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงคุณภาพในการนิเทศจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคลากรหลายฝ่ายหลายระดับผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันสร้างบรรยากาศของสถานศึกษาให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี มีความเป็นมิตรและเพื่อนร่วมวิชาชีพ สร้างการยอมรับความไว้วางใจ ความเชื่อถือ การปลูกฝังให้บุคลากรเรียนรู้ที่จะชื่นชมและยกย่องผู้อื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ มีคุณความดีและเป็นแบบอย่างให้กับองค์การและเสริมสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบคุณภาพที่มีความคิดความเชื่อและวิถีการปฏิบัติงานการจัดการเรียน การสอนที่มุ่งสู่คุณภาพ โดยเชื่อว่าคุณภาพจะพัฒนาได้ด้วยความเพียรพยายามและความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกฝ่าย บรรยากาศและวัฒนธรรมเช่นนี้จะมีส่วนส่งเสริมให้ การดำเนินงานในระบบการนิเทศในสถานศึกษาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
4.2 ด้านการสรุปรายงานผล โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีการกำกับ ติดตามการนิเทศภายในอย่างสม่ำเสมอ มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ โครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีเครื่องมือการกำกับ ติดตามการนิเทศภายในที่เป็นรูปธรรม ได้ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น แบบบันทึกการสนทนาทางวิชาการ, แบบบันทึกการเยี่ยมชั้นเรียน , แบบประเมินความพึงพอใจ , แบบบันทึกงานในหน้าที่ , แบบบันทึกสังเกตการสอน เป็นต้น จึงทำให้การสรุปรายงานผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบและสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไข พัฒนางานนิเทศได้ต่อไป ดังที่ กระทรวงศึกษาธิการ (2553 : 29) ระบุว่ากระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนเป็นขั้นตอนการนิเทศการศึกษาที่จะต้องมีการดําเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายนั่นคือ การประเมินผลและรายงานผลการประเมินผล เป็นการตรวจสอบความสําเร็จของโครงการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ โดยทำการประเมินในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ประเมินความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศ เพื่อนำมาสรุปรวมเป็นผลการประเมิน และสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสําหรับการปรับปรุงการปฏิบัติงานในโอกาสต่อไป กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนที่จัดไว้ อย่างชัดเจนต่อเนื่องนั้น ย่อมช่วยให้งานนิเทศการศึกษาบรรลุผลได้ตามวัตถุประสงค์กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน เป็นการทํางานอย่างมีแบบแผนเป็น การเริ่มต้นจากการวิเคราะห์งานการเรียนการสอนของครูเพื่อที่จะทราบปัญหาให้ชัดเจนและจัดลําดับปัญหาที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงแล้ววางแผนที่จะดําเนินการ โดยหาทางเลือกที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดและดําเนินการนิเทศภายในตามกระบวนการจนถึงขั้นประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วนํานําผลไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
4.3 ด้านวิธีการและเครื่องมือในการดำเนินงานการนิเทศ โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้นิเทศเลือกใช้เครื่องมือที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการนิเทศภายในโรงเรียน มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ผู้ทำหน้าที่ผู้ให้การนิเทศของโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ได้รับการชี้แจงและอบรมเกี่ยวกับเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการนิเทศอย่างละเอียด ดังนั้นทำให้ผู้นิเทศสามารถเลือกใช้เครื่องมือเพื่อการนิเทศได้สอดคล้องกับผู้รับการนิเทศ แต่ละคน ส่งผลให้ผู้รับการนิเทศได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย ดังที่เยาวพา เดชะคุปต์ (2542 อ้างถึงใน สุนันทา สบายวรรณ, 2558 : 27) กล่าวว่า กิจกรรมการนิเทศเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การนิเทศบรรลุจุดมุ่งหมายของการนิเทศ ซึ่งกิจกรรมการนิเทศแต่ละชนิดให้ประสบการณ์แตกต่างกันไป กล่าวคือ บางกิจกรรมจะทำให้ผู้รับการนิเทศได้รับประสบการณ์สูง แต่บางกิจกรรมก็ทำให้เกิดประสบการณ์ในระดับต่ำ สิ่งที่ผู้นิเทศจะต้องพิจารณาก็คือ ระดับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่พอใจหรือไม่ กิจกรรมใดควรจะนำมาใช้ในสถานการณ์ใดเพื่อประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติ
5. การประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ผลผลิต โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ครูผู้สอนของโรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของโครงการนิเทศภายในโรงเรียน นอกจากนั้นครูผู้สอนยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เนื่องจากโรงเรียนให้ครูผู้สอนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการทุกขั้นตอน ส่งผลให้โครงการสามารถดำเนินงานจนบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ดังที่ รำไพ งิ้วไชยราช (2559 : 12) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการนิเทศนั้นเพื่อส่งเสริมช่วยเหลือให้ครูสามารถปรับปรุง พัฒนาตนเองและกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความร่วมมือระหว่างผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรภายในสถานศึกษาจะต้องร่วมมือกันดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสุดใจ ฝูงใหญ่ (2562) ที่ทำการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนอนุบาลบางละมุง สำนังานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 พบว่า ด้านผลผลิต อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน
5.1 ด้านความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานโครงการ โดยรวม อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผลการปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 มีความรับผิดชอบต่อโครงการนิเทศภายในของโรงเรียน มีความเข้าใจบทบาทหน้าที่และแนวทางในการปฏิบัติงานประสานการดำเนินงานนิเทศภายในโรงเรียนให้เกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนบ้านควนนิมิต มีการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น การประชุมชี้แจงให้ครูทุกคนได้รับรู้และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีการประสานและส่งเสริมให้ครูมีการทำงานเป็นทีม มีการใช้กระบวนการกลุ่มในการปฏิบัติงานมากขึ้น มีการจัดทำรายละเอียดในการนิเทศติดตามช่วยเหลือ มีการรายงานผลการประสานสัมพันธ์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครูในสถานศึกษาในการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมและสื่อต่าง ๆ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาคอยกำกับ ติดตามให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โครงการนิเทศภายในจึงได้รับความพึงพอใจอย่างมากจากทุกฝ่าย ดังที่ สุรศักดิ์ ปาเฮ (2554 : 18) กล่าวว่า ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะต้องนิเทศการศึกษาของตนเองที่รับผิดชอบอยู่ การดำเนินการนิเทศการศึกษาจะต้องเป็นการร่วมมือหรือยอมรับของบุคคลในสถานศึกษาที่จะช่วยการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขซึ่งกันและกันภายใต้บรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตย ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีบรรยากาศแบบสร้างสรรค์ มีการประสานงานทำงานเป็นหมู่คณะ การนิเทศการศึกษาจะต้องเกิดขึ้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาหรือต้องการตอบสนองความต้องการของสถานศึกษาที่จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและ การนิเทศการศึกษาจะต้องเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจแก่บุคลากรในสถานศึกษาให้มีความเชื่อมั่นในตนเองและพร้อมที่จะเผยแพร่ผลงานทางวิชาการเพื่อให้บุคคลในหน่วยงานมีความรู้ความสามารถสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสกาวรัตน์ ไกรมาก (2562) ที่ทำการศึกษาการนิเทศด้วยกระบวนการวิจัย เพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาพะเยา เขต 2 พบว่า ครูมีความพึงพอใจการนิเทศ อยู่ในระดับมาก
5.2 ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ของครู โดยรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ครูได้รับการพัฒนาการใช้หลักสูตรแกนกลางพุทธศักราช 2551 ตามมาตรฐานและตัวชี้วัด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) มากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวัตถุประสงค์ของโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพทางด้านการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นโครงการที่บุคลากรร่วมมือกันแก้ปัญหาการสอนและสามารถปฏิบัติจริงได้ โครงสร้างของโครงการเป็นการแนะนำช่วยเหลือการทำงานของครู ช่วยให้ครูมีรูปแบบการพัฒนาการทำงาน ซึ่งมีการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเอาหลักสูตรแกนกลางพุทธศักราช 2551 ตามมาตรฐานและตัวชี้วัด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน ดังที่ ณธีธร ชุมอภัย (2557 : 8) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาเพื่อที่จะทำการพัฒนาครูเป็นประการสำคัญ เพราะเชื่อว่าครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการจัดการศึกษา และครูจะเป็นผู้นำกระบวนการต่างๆ มาสู่การปฏิบัติการนิเทศการศึกษา จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือ แนะนำ ปรับปรุงและส่งเสริมเพื่อที่จะให้ครูได้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่จนเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้และพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและพัฒนาการศึกษา อันจะส่งผลให้กระบวนการหรือวิธีการสอนของครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนิรันดร กากแก้วและคณะ (2563) ที่ทำการศึกษาการนิเทศด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการสอนของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พบว่า ประสิทธิภาพการสอนของครู อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
จากผลการประเมินโครงการ พบว่า มีข้อเสนอแนะรายด้านทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
1. ด้านบริบทของโครงการ โรงเรียนควรมีการประชุมเพื่อทำการแต่งตั้งคณะกรรมการของโครงการเพื่อรับผิดชอบโครงการ และควรสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อที่จะศึกษาถึงสภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อนำมากำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สามารถตอบสนองกับความต้องการและชุมชนอย่างแท้จริง
2. ด้านปัจจัยนำเข้า โรงเรียนควรทำการจัดอบรมและพัฒนาครูให้มีความรู้ทักษะด้าน การนิเทศภายในก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องและจัดให้มีการจัดทำสรุปรายงานผลการนิเทศ ติดตามการดำเนินงานโครงการนิเทศภายในตามปฏิทินที่ได้กำหนดไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้กับครูในการศึกษา รวมถึงทำการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีความสะดวกและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของโครงการนิเทศภายใน
3. ด้านกระบวนการ โรงเรียนควรจัดกิจกรรมการประชุมก่อนเปิดภาคเรียน โฮมรูม การเยี่ยมชั้นเรียน การสังเกตการสอนและการสอนซ่อมเสริมมาใช้การนิเทศภายในมากขึ้น ควรมีการประเมินผลจากการแบบบันทึกการศึกษาดูงานและบันทึกการสังเกตการสอน ทุกครั้งเมื่อมีการดำเนินงานแล้ว
4. ด้านผลผลิต ควรจัดอบรมสัมนาให้ความรู้กับครูเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และมีการนำระบบสารสนเทศเข้ามาจัดระบบการเก็บผลการประเมินการนิเทศให้เป็นระบบที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่าย
ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
1. ควรทำศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุราษฎร์ธานี เขต 1
2. ควรทำการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียนที่มีต่อโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1
3.ควรทำการประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านควนนิมิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุราษฎร์ธานี เขต 1 รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ไอ (CIPPI model)