ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองโกวิทยา
ผู้รายงาน นายวินัย ไอยราภิวัฒน์
ปีที่ดำเนินการ ปีการศึกษา 2563
บบทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองโกวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 กำหนดขอบเขตการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการคิด โดยใช้การบริหารจัดการด้วยการส่งเสริมเรียนรู้ตามแนวทางการใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) วัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน ด้วยรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ประกอบด้วยการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต 2) เพื่อประเมินผลลัพธ์จากโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน 3) เพื่อศึกษาผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 24 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน กรรมการสภานักเรียนจำนวน 21 คนผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 275 คน และนักเรียน จำนวน 345 คน รวมทั้งสิ้น 678 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้มี 3 ลักษณะ คือลักษณะที่ 1 แบบบันทึกผลการประเมินตามสภาพจริงเกี่ยวกับคุณภาพผู้เรียน ลักษณะที่ 2 แบบวัดเจตคตินักเรียน และลักษณะที่ 3 แบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ ทุกฉบับแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 สถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 สอบถามความคิดเห็น เกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน เป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ตอนที่ 3 สอบถามความคิดเห็นโดยการเขียนตอบคำถาม จากคำถามปลายเปิด โดยทั้ง 2 ฉบับ มีการตรวจสอบ คุณภาพของเครื่องมือ ได้ค่าความเชื่อมั่น .87และ.95 สถิติที่ใช้ในวิเคราะห์ข้อมูล คือค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลของการประเมินได้ข้อสรุปดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองโกวิทยา พบความสำเร็จของการบริหารจัดการและกระบวนการจัดการเรียนรู้ ทั้งในภาพรวมและในส่วนกิจกรรมโครงการตลอดจน ข้อสังเกตจุดที่ควรพัฒนา ซึ่งมีผลของการประเมินได้ข้อสรุปดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองโกวิทยา
1.1 ด้านสภาพแวดล้อม (context) โดยภาพรวมความต้องการ ความจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (key stakeholders) ของโรงเรียนเห็นว่าโครงการ สามารถตอบสนองการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนได้โดยใช้การจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการให้โครงการประสบความสำเร็จ
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยภาพรวมของกิจกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ที่สนับสนุนโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ครูควรให้ผู้เรียนวางแผนการทำโครงงานผ่านการเขียนเค้าโครงของ โครงงาน ให้นักเรียนได้ร่วมกันระดมความคิดระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อทำการวางแผนการจัดทำโครงงาน โดยเฉพาะการออกแบบการทำโครงงาน ให้นักเรียนสืบค้นว่ามีขั้นตอนและจะเริ่มดำเนินการอย่างไร
1.3 ด้านกระบวนการ (Process) ผลการประเมินกระบวนการปฏิบัติ การรับรู้และการมีส่วนร่วมในโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด พบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนักเรียนควรได้ลงมือทำโครงงานตามขั้นตอนที่เขียนไว้ในเค้าโครงของโครงงาน นักเรียนแต่ละกลุ่มควรปรึกษากับสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อแบ่งงานและกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจน โดยให้มีการอภิปรายร่วมกันถึงวิธีการและเหตุผลในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ว่าปฏิบัติเพื่ออะไร นักเรียนจะได้มีการวางแผนการทำงานที่ถูกต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน
1.4 ด้านผลผลิต (Output) ของโครงการ พบว่าการดำเนินโครงการมีความสำเร็จด้านนี้อยู่ในระดับ มากที่สุด และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบผลผลิตด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา พบว่า
1.4.1 ภาพรวมผลสัมฤทธิ์ระดับสถานศึกษาของนักเรียนที่ได้ระดับ 3 ขึ้นไป ปีการศึกษา 2562 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 49.94 ปีการศึกษา 2563 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 46.20 สูงขึ้นร้อยละ 13.26
1.4.2 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 24.15 ปีการศึกษา 2563 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.20 สูงขึ้นร้อยละ 2.05 หมายเหตุ(การทดสอบ (O-net) ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้นสังกัดไม่ให้นำผลมาใช้ในการประเมินทุกกรณี ด้วยเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)
1.4.3 ภาพรวมผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรสถานศึกษา ปีการศึกษา 2562 อยู่ในระดับดีขึ้นไปร้อยละ 82.00 ปีการศึกษา 2563 อยู่ในระดับดีขึ้นไปร้อยละ 88.20 เพิ่มขึ้น 6.20
1.4.4 ผลผลิตด้านเจตคติของนักเรียนเมื่อนักเรียนได้เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) เมื่อสิ้นสุดโครงการ สูงกว่าก่อนเริ่มโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01
2. ผลลัพธ์จากการดำเนินการโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน พบการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนภายใต้การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) โดยผู้เรียนจะได้รับความรู้ในเนื้อหาวิชาผ่านกระบวนการสืบเสาะค้นหาข้อมูลอย่างลึกลงไปในรายละเอียดตามหัวข้อที่นักเรียนสนใจ ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติค้นหาวิธีการเรียนรู้และเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ส่งผลให้สามารถพัฒนาทักษะการคิดได้
2.1 ผลลัพธ์ต่อโรงเรียนบ้านหนองโกวิทยาและผลลัพธ์ต่อครูผู้สอน สามารถพัฒนาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านความรู้และด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และด้านเจตคติที่ดีของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน ทำให้นักเรียนได้ฝึกคิดแก้ปัญหาผ่านกระบวนการแก้ปัญหาของผู้เรียนเอง ภายใต้การกำกับของครูที่ปรับบทบาทจากการทำหน้าที่สอนตามตำราเป็นการโค้ช (Coaching) ในการกำหนดรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมให้นักเรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้รับข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นระหว่างกลุ่ม ทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการทบทวนการคิดและสะท้อนกลับนักเรียน มีการซักถามประเด็น ที่เกิดความสงสัยในขณะที่กำลังทำโครงงานหรือการนำเสนอ ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสทบทวนถึงความรู้ ที่ได้เรียนรู้ว่ามีอะไรบ้างและสะท้อนความรู้ ความคิดออกมาผ่านการตอบคำถามในการนำเสนอผลงาน นอกจากนี้ครูยังสามารถพัฒนานักเรียนในการพัฒนาพฤติกรรมอื่นๆ ของนักเรียนโดยการสอดแทรกกิจกรรมระหว่างการจัดทำโครงงาน เช่น แสดงความกระตือรือร้น ความอดทน มีความเอาใจใส่และขยันหมั่นเพียร สอดคล้องกับทฤษฎีและความคิดเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน ที่เป็นผลจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning)
2.2 ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนและผู้ปกครอง พบว่าโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียนทำให้ชุมชนมีความพึงพอใจ มีความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจและรักโรงเรียน ซึ่งโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียนโดยผ่านการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานให้กับนักเรียน ชุมชนและผู้ปกครองได้พบการพัฒนานักเรียนจากผลงาน ชิ้นงานตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ พัฒนาเป็นสินค้าสามารถขายได้ มีการวางแผนงานสู่อาชีพในอนาคตที่ตนเองถนัด การทำงานเป็นกลุ่มทำให้เกิดการดูแลช่วยเหลือกันซึ่งกันและกันเป็นมิติสังคมที่พึงประสงค์ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดี มีทักษะการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นการพัฒนาที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนบ้านหนองโกวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา
3. ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการดำเนินการโครงการส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองโกวิทยา ได้องค์ความรู้สู่การปฏิบัติ เป็นแนวทางสร้างความสำเร็จ 7 ประการในการสร้างทักษะการคิดให้กับนักเรียน ประกอบด้วย
3.1 ครูโรงเรียนบ้านหนองโกวิทยา เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สอนตามตำรา เป็นการโค้ช (Coaching) เพื่อให้การจัดการเรียนรู้เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนมีบทบาท มีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ปฏิบัติจริง ได้คิดเองได้ทำเอง ได้นำเสนอผลงานอย่างละเอียดรอบคอบ อย่างเป็นระบบ
3.2 โรงเรียนจัดแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนได้รู้จักวิธีแสวงหาข้อมูล เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำโครงงาน และเมื่อโครงงานสำเร็จจะได้สร้างองค์ความรู้และสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง
3.3 โรงเรียนสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้นักเรียนมีกลุ่มปฏิบัติงานที่ชัดเจน ให้ได้ปฏิบัติกิจกรรมแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ ได้พบเพื่อนพบพี่หรือน้องที่หลากหลาย เกิดทักษะในการใช้ภาวะผู้นำ การเป็นผู้ตาม ทักษะกระบวนการในการทำงาน การแก้ปัญหา มีทักษะการเคลื่อนไหวทางกายที่ดี
3.4 โรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมเสริมให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ ทำงานร่วมกันกับเพื่อนผู้อื่นได้ ผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลาย เช่นกลุ่มศิลปะ กลุ่มดนตรี กลุ่มกีฬา กลุ่มเรียนรู่สู่งานอาชีพเป็นต้น
3.5 โรงเรียนฝึกความเป็นประชาธิปไตย คือการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีเหตุผลการยอมรับในความรู้ ความสามารถซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องประชุม เป็นมติในสภานักเรียนและกำหนดมอบหมายการปฏิบัติ
3.6 นักเรียนต้องได้ฝึกลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงาน เช่น การจดบันทึกข้อมูล การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ความรับผิดชอบ ความซื่อตรง ความเอาใจใส่ ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน รู้จักทำงานอย่างเป็นระบบ ทำงานอย่างมีแผน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
3.7 ครูผู้สอนเป็นโค้ช (Coaching) ให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถนำความรู้ ความคิด หรือแนวทางที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิต หรือในสถานการณ์อื่น ๆ ได้ โดยฝึกให้นักเรียนได้คิด ได้ลงมือทำ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานของตนอย่างสม่ำเสมอ
ข้อเสนอแนะในการพัฒนา
1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนอย่างมีประสิทธิผลนั้น การสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารและครูผู้สอนต้องมีความชัดเจน ร่วมกันวางแผนการดำเนินการ การติดตามประเมินผล นำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
2. โรงเรียนจะต้องจัดแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนได้ทำการสืบค้นความรู้จากแหล่งต่างๆ อย่างอิสระเพื่อนำความรู้ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการทำโครงงาน ถ้านักเรียนไม่มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงงานของตน โครงงานนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นนักเรียนจึงต้องมีการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นการทำโครงงาน
3. จากผลการประเมินพบว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเจตคติต่อวิทยาศาสตร์สูงขึ้น ดังนั้น ควรส่งเสริมและสนับสนุนครูผู้สอนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในทุกสาระวิชา
4. การเป็นโค้ช (Coaching) ครูผู้สอนควรวางแผนก่อนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานให้รอบคอบ ก่อนที่จะดำเนินการตามแผน เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อมีปัญหาในระหว่างการดำเนินกิจกรรม ผู้สอนสามารถแก้ปัญหาที่เหมาะสมและรวดเร็ว
5. การวางแผนเกี่ยวกับระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนของโครงการ จะต้องมียืดหยุ่น นักเรียนอาจต้องทำโครงงานในช่วงเวลาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คาบเรียนปกติ และโครงงานบางเรื่องอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บและรวบรวมข้อมูล
6. ผู้บริหารต้องทำการวิจัยหรือสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานที่ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ภายในโรงเรียน หรือการวิจัยเกี่ยวกับผลการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานที่มีต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย ด้านอื่น ๆ เช่น ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและและทักษะคิดแก้ปัญหาและพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย ด้านอื่น ๆ เช่น เจตคติทางวิทยาศาสตร์ หรือจิตวิทยาศาสตร์ จิตนวัตกรเป็นต้น
7. โรงเรียนต้องส่งเสริมให้ครูผู้สอน สอนนักเรียนทำโครงงานประเภทสำรวจ ประเภททดลอง ประเภทการประดิษฐ์ เพื่อให้ผลงานที่ได้มีความหลากหลายทั้งเชิงความคิดและชิ้นงานตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน อันจะส่งผลถึงการพัฒนาเป็นนักนวัตกรในอนาคต