รายงานการใช้นวัตกรรมการเสริมแรงทางบวก และส่งเสริมการคิด การตัดสินใจเชิงจริยธรรม เพื่อแก้ปัญหานักเรียนขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรายวิชาสังคมศึกษา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563
ผู้รายงาน นางเบญจพร วังพระราช
1. ที่มาของปัญหา
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของกลุ่มสาระสังคมศึกษา พบว่านักเรียนขาดความกระตือรือร้นในการเรียน เนื่องจากเนื้อหาในวิชาสังคมศึกษา มีเนื้อหามากเกินไปทำให้นักเรียนเบื่อ เมื่อสิ้นปีการศึกษา จึงส่งผลให้ผู้เรียนมีผลการเรียน ที่เป็น ๐ ร มส. ในรายวิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เพิ่มมากขึ้น ครูผู้สอนจึงหาวิธีการแก้ไขปัญหา คือ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมีการออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย และนักเรียนได้มีส่วนร่วมมากที่สุดและในกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาสังคมศึกษาแล้ว กิจกรรมการเรียนการสอนนี้ยังมุ่งปลูกฝังและเปลี่ยนแปลงมุมมองทางด้านความคิดและจิตใจ ด้านความมีเหตุผล การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง ถูกผิด จิตสาธารณะ ควบคู่กันไปด้วย การจัดกิจกรรมการเรียน การสอนนี้คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการคิด เพื่อการตัดสินใจเชิงจริยธรรม
2. แนวคิด/วิธีการ ที่ศึกษาเพื่อออกแบบนวัตกรรม
ครูให้เกียรติบัตรยกย่อง เชิดชูเกียรติ คนดีศรีโคตรบูรณ์ สำหรับนักเรียนที่มีความกระตือรือร้นในด้าน
การเรียน การทำความดี และมีพฤติกรรมด้านบวก เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆในการเรียนและร่วมกิจกรรม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน แนวคิดสำคัญ คือ การเสริมแรงทางบวก คือ การประกาศและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติว่าเป็นคนดีศรีโคตรบูรณ์ โดยเก็บสะสมคะแนนในการทำความดีผ่านคูปองความดี โดยคะแนนพฤติกรรม ด้านบวกของนักเรียน อ้างอิงคะแนนการทำความดีและการมีพฤติกรรมเชิงบวก ในด้านต่างๆตามรูปแบบจากคู่มือการดำเนินงานบริหารกิจการนักเรียนของโรงเรียนศรีโคตรบูรณ์ กำหนดขึ้น เก็บแต้มคะแนนสะสมไปเรื่อยๆเพื่อความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมการเรียน การสอน และมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติเมื่อสิ้นปีการศึกษาหรือมอบเมื่อมีกิจกรรมที่มีบุคคลจากภายนอกมาร่วมรับรู้ เช่น มอบเกียรติบัตรในวันแม่แห่งชาติ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้นและสามารถประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง ชมเชยประชาสัมพันธ์ให้กับคนภายนอกได้รับรู้ด้วย นอกจากส่งผลด้านการเรียน เพิ่มความกระตือรือร้นในการเรียน การเสริมแรงทางบวกนี้ ยังผลต่อการปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนให้ดีขึ้น นักเรียนมีความรู้ ควบคู่คุณธรรม เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขในกิจกรรมการเรียนการสอน
3. โครงสร้างนวัตกรรม
ทฤษฎีการเรียนรู้หรือหลักการของการจัดการเรียนรู้ที่นำมาใช้ การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) คือการให้บางอย่างกับนักเรียนเพื่อเสริมพฤติกรรมที่ดี เป็นการให้สิ่งเสริมแรงที่บุคคลพึงพอใจ มีผลทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมถี่ขึ้น การสร้างวินัย โดยการเสริมแรงทางบวกเป็นหลักเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การยกย่อง ชื่นชม การให้รางวัล
การส่งเสริมการคิด และการตัดสินใจเชิงจริยธรรม คือ แบบแผนในการสอนจริยธรรมเพื่อส่งเสริมให้นักเรียน มีความสามารถในการคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์ที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงหรือข้อมูล ที่คลุมเครือ โดยใช้ความรู้ กระบวนการคิด และประสบการณ์ของตนเอง ในการตัดสินใจ เพื่อลงข้อสรุปเป็นข้อยุติ ที่สมเหตุสมผลว่าดีชั่ว ควรปฏิบัติหรือไม่ ด้านความรู้เชิงจริยธรรม เจตคติเชิงจริยธรรม เหตุผลเชิงพฤติกรรมและพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเพื่อการตัดสินใจเชิงจริยธรรม ศึกษามาจากแนวคิดการพัฒนารูปแบบการสอนของจอยส์และ วิลส์ ( Joyce and Well : Concept Attainment Model ) ผสานกับทฤษฎีการเรียนรู้พัฒนาการจริยธรรมของลอร์เรนซ์ โคลเบิร์ก ( Lawrence Koohlberg : Moral Development Theory )แนวคิด ทฤษฎีการพัฒนาจริยธรรมของเพียเจต์ ( Piaget : Complex Process ) ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้คอนสตรัคติวิสต์ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ และทฤษฎีการคิดอย่างมีวิจารญานของเชาว์ปัญญา ( Criticai Thinking )
4. สรุปผลการใช้นวัตกรรม
1. นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนวิชาสังคมศึกษามากขึ้น
2. นักเรียนมีพฤติกรรมอันพึงประสงค์เพิ่มขึ้น
3. ความเห็นของที่ปรึกษา/ผู้บริหาร การที่นำวิธีการเสริมแรงทางบวกและส่งเสริมการคิดการตัดสินใจ เชิงจริยธรรม โดยการให้เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ คนดีศรีโคตรบูรณ์ ส่งเสริมให้ผู้เรียน
มีความกระตือรือร้น ในการเรียนมากขึ้น