หัวข้องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบมุ่งเน้น
ประสบการณ์ทางภาษา (CLE) และการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค
STAD โดยใช้ Active 3Ps สำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
ผู้วิจัย นางสาวธิดารัตน์ เชตุพน
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 2) สร้างและหาคุณภาพเบื้องต้นของรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบมุ่งเน้นประสบการณ์ทางภาษา (CLE) และการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยใช้ Active 3Ps สำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 3) ทดลองใช้รูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่สร้าง และ 4) ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่สร้าง กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ครูผู้สอน และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 10 คน และนักศึกษา ปวส. 1 จำนวน 12 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ นักศึกษาระดับชั้น ปวส. 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร รหัส 3000 1201 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม เทศบาลนครนครปฐม จังหวัดนครปฐม จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการสอน ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร รหัส 3000 1201 แบบประเมินความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อรูปแบบการสอน และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สถิติค่าเฉลี่ย (x̄) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าร้อยละ และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ได้กับค่าเฉลี่ยที่กำหนดขึ้น (ร้อยละ 80) โดยใช้ One Sample T Test ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางคอมพิวเตอร์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการสอน โดยภาพรวม พบว่า การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในปัจจุบัน ครูมีความเป็นกันเองกับผู้เรียนดี ส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้โดยการบรรยายร่วมกับการให้ผู้เรียนอ่านเนื้อหาของบทเรียน ทำแบบฝึกหัด และทำแบบทดสอบในหนังสือเรียน มีสื่อรูปภาพ ใบความรู้ คลิปวีดีโอสั้น ๆ ประกอบการเรียน นักศึกษาเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้ประสบผลสำเร็จในการเรียน ควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ มีการจัดกิจกรรมให้มากขึ้น และมีกิจกรรมฝึกการพูดและฟังภาษาอังกฤษร่วมกัน มีการบริหารเวลาที่เหมาะสมกับเนื้อหา และภาระงานในคาบนั้น ๆ ควรมีการประเมินผลในระหว่างและหลังการจัดการเรียนรู้ และมีการแจ้งให้ผู้เรียนทราบความก้าวหน้า และข้อบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ กระบวนการเรียนรู้แบบมุ่งเน้นประสบการณ์ทางภาษา (CLE) และการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยใช้ Active 3Ps มีความเหมาะสมกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่มีการทดลองปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้ มีการจัดกลุ่มฝึกการสื่อสารระหว่างกันของผู้เรียน และมีการให้ข้อมูลป้อนกลับของผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงแก้ไข ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้ตามจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. ผลการพัฒนารูปแบบการสอน พบว่า รูปแบบมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) องค์ประกอบเชิงโครงสร้าง ประกอบด้วย หลักการ และวัตถุประสงค์ 2) โครงสร้างเชิงกระบวนการ ประกอบด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นประสบการณ์รูปธรรม (Concrete Experience : CE) ขั้นที่ 2 ขั้นการไตร่ตรอง (Reflective Observation : RO) ขั้นที่ 3 ขั้นการสรุปเป็นหลักการนามธรรม (Abstract Conceptualization : AC) ขั้นที่ 4 ขั้นการทดลองปฏิบัติจริง (Active Experiment : AE) ขั้นที่ 5 ขั้นการประเมินผล (Evaluation : E) และการวัดและประเมินผล 3) เงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบการสอนไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งรูปแบบมีค่าความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ค่าความเป็นไปได้ และค่าความเหมาะสมและสอดคล้องในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อนำรูปแบบการสอนไปหาประสิทธิภาพแบบภาคสนามได้ประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.24/86.40 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
3. ผลการทดลองใช้ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร รหัส 3000 1201 หลังการเรียนด้วยรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบมุ่งเน้นประสบการณ์ทางภาษา (CLE) และการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยใช้ Active 3Ps สำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีคะแนนมากกว่าร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอยู่ในระดับสูง และความพึงพอใจ ของผู้เรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนอยู่ในระดับมาก
4. การประเมินผลและปรับปรุง พบว่า ประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบมุ่งเน้นประสบการณ์ทางภาษา (CLE) และการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยใช้ Active 3Ps สำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากการทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง มีค่าเท่ากับ 85.73/86.67 มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการสอน ในภาพรวม นักศึกษาเห็นด้วย ร้อยละ 86.67 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.33 ความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยไม่มี