บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต1 ทำการประเมินโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ ซิปป์โมเดล (CIPP model) ของสตัฟเฟิลบีม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต1 2)เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 3)เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 4)เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านปากแพรก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 4 คน นักเรียนจำนวน 23 คน ผู้ปกครอง จำนวน 23 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน(ไม่นับรวมผู้แทนครู) รวมทั้งสิ้น 57 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็น แบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1.ผลการประเมินด้านบริบท โดยรวมอยู่ในระดับมาก ได้แก่ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน
2.ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ได้แก่ การออกแบบ
การดำเนินงาน ระยะเวลา และกิจกรรมของโครงการ
3.ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ได้แก่ การวางแผนโครงการ
การมีส่วนร่วม ขั้นตอนการดำเนินงาน การนิเทศติดตาม และการประเมินผล
4.ผลการประเมินด้านผลผลิต โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผลการประเมินตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับมากที่สุดคือ ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในระดับมาก ได้แก่ การบรรลุวัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่ได้รับ การนำไปใช้
5.ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการจัดทำโครงการ พบว่า การดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทำให้ครูต้องจัดทำเอกสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ครูก็มีภาระงานที่ต้องปฏิบัตินอกเหนือจากการสอน ทำให้ไม่มีเวลาในการดำเนินกิจกรรมได้เต็มที่ สำหรับการเดินทางไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนต้องใช้เวลามาก เพราะบ้านของนักเรียนอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน แนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ ผู้บริหารและครูทุกคน ให้ความสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยกำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีการนิเทศ ติดตามระบบอย่างต่อเนื่อง ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมน้อย เนื่องจากขาดการประสานงานและการประชาสัมพันธ์ที่ดีของโรงเรียน