บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนห้วยทรายประชาสรรค์
ผู้รายงาน นางสาวศิริญา เดชะคำภู ตำแหน่ง ผู้อำนวยการชำนาญการ
โรงเรียนห้วยทรายประชาสรรค์
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 10
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนห้วยทรายประชาสรรค์ สังกัดสำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 10 ปีการศึกษา 2563 โดยใช้รูปแบบ CIPP model
มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อประเมินโครงการนิเทศภายในของโรงเรียนห้วยทรายประชาสรรค์ ปีการศึกษา 2563 ด้วยรูปแบบ CIPP model ใน 4 ด้าน คือ 1) การประเมินด้านสภาพแวดล้อม 2) การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า 3) การประเมินด้านกระบวนการ และ 4) การประเมินด้านผลผลิตของโครงการนิเทศภายใน และ 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินโครงการนิเทศภายในของโรงเรียนห้วยทราย
ประชาสรรค์ ปีการศึกษา 2563 ในแต่ละด้าน ระหว่างก่อนและหลังการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้การประเมินโครงการในครั้งนี้ มีจำนวน 30 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 21 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินโครงการนิเทศภายใน ซึ่งเป็นแบบประเมินมาตรวัด 5 ระดับของลิเคิร์ท (5 Likert scale) ตามรูปแบบการประเมินโครงการ CIPP ของสตัฟเฟิลบีม (2000: 279-317) รวมทั้งสิ้น 50 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งมีผลการประเมินโครงการดังนี้
1. การประเมินด้านสภาพแวดล้อม มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ หลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสมและมีความสอดคล้องกัน ซึ่งอยู่ในระดับมาก
2. การประเมินปัจจัยนำเข้า มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ อาคารสถานที่ห้องปฏิบัติงานตามโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งอยู่ในระดับมาก
3. การประเมินกระบวนการ มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ การปฏิบัติงานตามโครงการในหน้าที่ที่แต่ละคนรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ใน
ระดับมาก
4. การประเมินผลผลิต ประกอบด้วย
4.1 ประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ การวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งอยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ การมีกระบวนการคิด ปฏิบัติจริง และนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอยู่ในระดับมาก
4.3 คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ ความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ความรู้อย่างสม่ำเสมอ และความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ในระดับมาก
4.4 การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขของผู้เรียน มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีผลการประเมินในระดับสูงสุด คือ การปลอดพ้นจากอบายมุข ซึ่งอยู่ในระดับมากที่สุด
5. ผลการประเมินโครงการนิเทศภายในโดยภาพรวมหลังการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก ซึ่งสูงขึ้นกว่าก่อนการดำเนินโครงการในทุกด้าน
นอกจากรายงานผลการประเมินโครงการนิเทศภายในแล้ว ยังมีการประมวลความคิดเห็น ปัญหา และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
1. ควรมีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกในการสนับสนุนงบประมาณในโครงการ
ต่าง ๆ ของการนิเทศภายใน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพ
2. ควรมีการจัดทำกรอบแนวคิดและกำหนดจุดพัฒนาตามสภาพปัญหาและความต้องการของโรงเรียนให้ชัดเจน สอดคล้องกับบริบทชุมชน และความต้องการของนักเรียน
3. ควรสนับสนุนให้ครูมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยมีการบูรณาการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนให้มากขึ้น