ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์
ศรัทธากระยาราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร
ชื่อผู้ประเมิน นายถวิล แซ่ตั้ง
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการครั้งนี้ เป็นการรายงานการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธากระยาราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ปีการศึกษา 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการโดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP ของ สตัฟเฟิลบีมและคณะ (Stufflebeam, D. L. & et al,1971:216-265) มาเป็นรูปแบบในการประเมิน ประชากร ที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะครูโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธากระยาราม จำนวน 16 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ยกเว้นผู้แทนครูและผู้บริหารสถานศึกษา) จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 100 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 100 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รวมทั้งสิ้น 223 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วยแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้ 1) ประเมินด้านบริบท มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.79 2)ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.77 3)ประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 4) ประเมินด้านผลผลิต มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.72 และ 5) ประเมินความพึงพอใจ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.72 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมินโครงการแบบมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมิน ด้านบริบทของโครงการ (Context evaluation) ตามความคิดเห็นของคณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวมพบว่าระดับความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือความสอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษาอยู่ในระดับมากที่สุดรองลงมาคือปัญหาและความจำเป็นอยู่ในระดับมากที่สุดและความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) ตามความคิดเห็นของคณะครูในภาพรวม พบว่า ระดับความพอเพียงอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดความพอเพียงของสื่อวัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่อยู่ในระดับมากที่สุดรองลงมาคือรูปแบบการจัดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุดและความพอเพียงของงบประมาณอยู่ในระดับมากส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือความพร้อมและความเหมาะสมของบุคลากรอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานโครงการ (Process evaluation) ตามความคิดเห็นของครูในภาพรวมพบว่าระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ด้านการดำเนินงาน (Do)อยู่ในระดับมากที่สุดรองลงมาคือการกำกับนิเทศติดตามและประเมินผล(Check)อยู่ในระดับมากที่สุดและการวางแผน(Plan)อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานและรายงานผล (Act)อยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต (Product evaluation) พบว่า
4.1 คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนมีระดับความคิดเห็นต่อผลผลิตด้านพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนตามวัตถุประสงค์ของโครงการในภาพรวมพบว่าระดับพฤติกรรมสุขภาพอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มพบว่า คณะครูมีความเห็นในระดับพฤติกรรมสุขภาพอยู่ในระดับมาก ผู้ปกครองนักเรียนมีความเห็นในระดับพฤติกรรมสุขภาพอยู่ในระดับมากที่สุด นักเรียนมีความเห็นในระดับพฤติกรรมสุขภาพในระดับมากที่สุดและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความเห็นในระดับพฤติกรรมสุขภาพ อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจในการดำเนินโครงการในภาพรวม ตามความคิดเห็นของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มผู้ประเมินพบว่า คณะครูและผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจในผลการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและนักเรียนมีความพึงพอใจในผลการดำเนินโครงการในระดับมากที่สุด