ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ผู้ศึกษา นายพงษ์พิทักษ์ ศิลปษา
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยรูปแบบการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยผู้วิจัยได้ศึกษา สภาพ ปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษารูปแบบการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียนและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 616 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินผล และแบบบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถาม แบบสังเกต และแบบประเมินผล โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยนำข้อมูลที่ได้จากแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึก มาเขียนพรรณนาเชิงวิเคราะห์
ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่า
สภาพการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยภาพรวมมีการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก ( x̄ = 3.58) ปัญหาการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยภาพรวม มีปัญหาอยู่ในระดับน้อย (x̄ = 2.48) แนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีดังนี้ 1. ด้านบริหารงานฝ่ายอำนวยการและงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณเพื่ออบรม ประชุม สัมมนา และศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่บุคลากร 2. ด้านบริหารงานฝ่ายบริหารงานทั่วไป ควรดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมและส่งเสริมการขายสินค้าที่ผลิตโดยนักเรียน 3. ด้านบริหารงานฝ่ายวิชาการ ควรส่งเสริมสนับสนุนให้ครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้จัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างเครื่องมือวัดผลและประเมินผลที่หลากหลายให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้
รูปแบบการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ 1. การจัดแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในด้านวิชาการ และด้านสนับสนุนและส่งเสริมวิชาการ 2. การพัฒนาครูโดยใช้ กลยุทธ์การอบรมเชิงปฏิบัติการ และกลยุทธ์การนิเทศแบบร่วมพัฒนาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กิจกรรมแบบโครงงาน
รูปแบบการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ดังนี้
1. การบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กำหนดนโยบายน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำแผนปฏิบัติงานที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วางแผนการบริหารจัดการงบประมาณของโรงเรียนที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการตามนโยบาย แผนปฏิบัติงาน และแผนงบประมาณตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัด คุ้มค่า และจำเป็น จัดทำแผนงานโครงการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. การพัฒนาหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตร แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาหลักสูตร และดำเนินการพัฒนาหลักสูตร โดยศึกษาหลักสูตรแกนกลาง กำหนดวิสัยทัศน์ หลักสูตรสถานศึกษา จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์สาระการเรียนรู้ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้ กำหนดผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ จัดทำหน่วยการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดทำสื่อ เครื่องมือวัดผลและประเมินผลที่หลากหลายสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. การพัฒนาบุคลากรในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กิจกรรมแบบโครงงาน ผู้วิจัยได้ร่วมจัดทำโครงการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กิจกรรมแบบโครงงาน ดำเนินการพัฒนาครูให้มีความรู้ ความเข้าใจ โดยใช้กลยุทธ์การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้บุคลากรแสวงหาความรู้และประยุกต์ใช้ความรู้ในการจัดการเรียนรู้และการดำเนินชีวิต ปฏิบัติภารกิจหน้าที่จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ สนับสนุนให้ครูได้ศึกษาดูงานจากหน่วยงานอื่นๆ ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4. การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้โรงเรียนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดบุคลากรรับผิดชอบแหล่งเรียนรู้ให้เพียงพอและเหมาะสม พัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ จัดอาคารสถานที่ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการและแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน