ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนวังสามหมอวิทยาคาร ในการวิจัยครั้งนี้พบว่า ตัวแปรต้นทุกตัวมีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าเส้นอิทธิพลบางเส้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ได้หมายความว่าตัวแปรต้นตัวนั้นไม่ได้มีอิทธิพลต่อตัวแปรผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะจากการตรวจสอบกับสภาพที่เป็นจริงพบว่ามีตัวแปรทุกตัวมีอิทธิพลตามรูปแบบความสัมพันธ์จำแนกปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. ความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่าตัวแปรความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งนี้เพราะการที่ผู้ปกครองของนักเรียนคอยให้ความสนใจในด้านการเรียนของนักเรียนซึ่งจะทำให้นักเรียนต้องพัฒนาผลการเรียนของตนเองให้สูงขึ้นผู้ปกครองอาจให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆเช่นด้านความประพฤติซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นักเรียนเกิดความตั้งใจเรียนที่มากขึ้นเป็นต้นซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ความเอาใจใส่
ของผู้ปกครองมีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมณู ดอนมอญ (2540) ที่พบว่า ความเอาใจใส่ของผู้ปครองเป็นตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
2. แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่าตัวแปรแรงจูงใจ
ใฝ่สัมฤทธิ์เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทั้งทางตรงและอิทธิพลทางอ้อม ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์โดยมีอิทธิพลรวมเป็นบวกแต่มีอิทธิพลทางตรงเป็นลบ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์เป็นความคาดหวัง/ความเชื่อ เป็นแรงจูงใจภายในหรือแรงจูงใจภายนอกของนักเรียนที่มีต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งแรงผลักดันเหล่านี้ทำให้นักเรียนต้องใช้ความพยายามในการเรียนและมีความรับผิดชอบมากขึ้นทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงนอกจากนี้แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ยังมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านเจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มีอิทธิพลทางอ้อมผ่านความถนัดด้านภาษา ผ่านเจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์ ไปยังผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ มณู ดอนมอญ (2540) ที่พบว่าแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
3. ความตั้งใจเรียน เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่า ตัวแปรความตั้งใจเรียนเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อม ต่อตัวแปรผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะความตั้งใจเรียนเป็นความเอาใจใส่ต่อการเรียน การมีสมาธิในการเรียน และการหาความรู้เพิ่มเติมของนักเรียนและทำให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะประพฤติและแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของตน เช่นการปฏิบัติบ่อย ๆ หรือการปฏิบัติเป็นประจำในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะสนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ปกรณ์ ประจัญบาน (2542) ที่พบว่า
ความตั้งใจเรียนเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
4. การเรียนแบบมีส่วนร่วม เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่าตัวแปรการเรียนแบบมีส่วนร่วม เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อตัวแปรผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนักเรียนมีการร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนกับครู กับเพื่อน การร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนกับเพื่อนตามที่ครูกำหนด และตามที่ครูไม่ได้กำหนดเป็นประจำ ก็จะสนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของอัมพร อารีรักษ์ (2538) ที่พบว่าการเรียนแบบมีส่วนร่วมเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
5. ความถนัดด้านภาษา เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่าตัวแปรความถนัดด้านภาษา เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อตัวแปรผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะความถนัดด้านภาษาเป็นการหาคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำที่กำหนดให้การหาคำที่มีความสัมพันธ์กับคำที่กำหนดให้ และการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อความหรือโครงที่กำหนดให้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจโจทย์ได้มากขึ้นจึงทำให้ความถนัดด้านภาษามีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของพะยอม กลิ่นจำปา (2538) ที่พบว่าความถนัดด้านภาษาเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
6. ความถนัดด้านจำนวน เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่าตัวแปรความถนัดด้านจำนวนเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลทางตรงและต่อตัวแปรผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งนี้เพราะความถนัดด้านจำนวน เป็นการหาอนุกรมตัวเลขและเป็นการหาเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของพยอม กลิ่นจำปา (2538) ที่พบว่า ความถนัดด้านจำนวนเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลทางตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
7. เจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อพิจารณารูปแบบและตารางอิทธิพลจะเห็นว่าตัวแปรเจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อตัวแปรผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งนี้เพราะเจตคติเป็นความรู้สึก ความคิดเห็นของบุคคล ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินค่าต่อสิ่งนั้นและทำให้บุคคลที่มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตนเช่น รู้สึกดี หรือรู้สึกชอบวิชาวิทยาศาสตร์ ก็จะสนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของศิริพร ปานาวงศ์ (2545) ที่พบว่าเจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลทางตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน