ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโดยใช้สื่อการสอน
ทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV โรงเรียนวัดพระอานนท์ สำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3
ชื่อผู้ประเมิน : สิบตรีวีรชาติ ศรีสองสม
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโดยใช้สื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV โรงเรียนวัดพระอานนท์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของโครงการ ความพร้อมและเหมาะสมของสถานศึกษา ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความสอดคล้องของนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ สถานที่ สื่อและวัสดุอุปกรณ์ และระบบบริหารที่เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการเกี่ยวกับ การวางแผน การดำเนินงาน การนิเทศกำกับติดตามผล การประเมินผลการดำเนินงาน และด้านการตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข 4) เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการ เกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร ทักษะการคิดวิเคราะห์และเขียนตามหลักสูตร ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน คุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ระบบบริหารจัดการของโรงเรียน รวมถึงความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวัดพระอานนท์ อำเภอร่อนพิบูลย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ในปีการศึกษา 2563 รวมทั้งสิ้น จำนวน 223 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 86 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 9 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 35 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 35 คน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่รวมตัวแทนครูและผู้บริหารโรงเรียน) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามฉบับที่ 1 ประเมินด้านบริบทและด้านปัจจัย (ประเมินก่อนดำเนินงาน) แบบสอบถามฉบับที่ 2 ประเมินด้านกระบวนการ (ประเมินระหว่างดำเนินงาน) และแบบสอบถามฉบับที่ 3 ประเมินด้านผลผลิต เกี่ยวกับด้านผลการดำเนินงานโครงการ และแบบสอบถามฉบับที่ 4 ประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ประเมินหลังเสร็จสิ้นโครงการ)การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows 16.0 ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัด โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย พบว่า ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ความเหมาะสมและเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ด้านความต้องการจำเป็นของโครงการ ความพร้อมและเหมาะสมของสถานศึกษา และการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ด้านสถานที่ มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านบุคลากรของสถานศึกษา ด้านระบบบริหารที่เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ ด้านสื่อวัสดุอุปกรณ์ และด้านงบประมาณ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ ด้านการวางแผน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ การดำเนินการ การประเมินผล การนิเทศกำกับติดตาม การตรวจสอบปรับปรุงและแก้ไข ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพบว่า โดยรวมมีผลการดำเนินงานโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทุกตัวชี้วัด พบว่า
4.1 ผลการดำเนินงานโครงการพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ระบบบริหารจัดการของโรงเรียน คุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ทักษะการคิดวิเคราะห์ เขียนตามหลักสูตร และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ตามลำดับ
4.2 ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินงานโครงการพบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
ผลการประเมินโครงการในภาพรวมพบว่า โครงการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโดยใช้สื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ในโรงเรียนวัดพระอานนท์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 อยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ดังนั้นจึงควรที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ