ชื่อผู้ประเมิน สุพรรณี แก้วกระจาย
ปีที่ศึกษา 2562
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านบางหยด โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบและงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน กระบวนการของโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนินการและการติดตามโครงการและผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านบางหยด ผู้ปกครองและครู มีกลุ่มตัวอย่าง 81 คน ประกอบด้วยนักเรียน 45 คน ผู้ปกครอง 30 คน และครู 6 คน ได้มาโดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบบันทึก แบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ IOC หาความตรงเชิงเนื้อหาของแบบสอบถาม และสัมประสิทธิ์แอลฟา หาความเที่ยงของแบบสอบถาม ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดในด้าน ความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ และผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากในด้านความเป็นไปได้ของโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ทั้งตัวชี้วัดความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ทั้งตัวชี้วัดร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการและร้อยละของการติดตามโครงการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ระดับมากที่สุด ได้แก่ ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสภาพแวดล้อม ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ร้อยละของนักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาป้องกัน แก้ไขปัญหา ทั้งด้านการเรียนรู้ และความสามารถพิเศษ ระดับมาก ได้แก่ ระดับความพึงพอใจของนักเรียน ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครองและระดับวัดความพึงพอใจของครู
ข้อเสนอแนะ
ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านบางหยด ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ครูและผู้บริหารสถานศึกษา กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จากผลการประเมินรายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านบางหยด โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP MODEL จะเห็นได้ว่าควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามข้อเสนอแนะดังนี้
1. จากผลการประเมินประเด็นบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดในด้านความจำเป็นในการจัดทำโครงการ และผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากในด้านความเป็นไปได้ของโครงการ แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าผู้บริหารจึงควรชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความร่วมมือของผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง โดยการประชุมชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน นอกจากนี้บริบทของโครงการเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการการดำเนินโครงการ การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของโครงการจะเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จได้ดี จึงควรมีการพิจารณาถึงความต้องการจำเป็นของสภาพแวดล้อม คือ ความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู และกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด และสภาพปัญหาของนักเรียน อันเป็นการตอบสนองความต้องการของนักเรียนอย่างแท้จริง
2. จากผลการประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้าโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดทั้ง 2 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าครูมีการปรับพฤติกรรมการป้องกัน แก้ไขสุขภาพจิต การพัฒนาบุคลิกภาพปละทักษะการดำรงชีวิตของนักเรียน และการเบิกจ่ายงบประมาณรวดเร็วตรงเวลา และทั่วถึงทุกขั้นตอน ผู้บริหารจึงควรควรสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการดำเนินงานโครงการให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรมอย่างรวดเร็วและเพียงพอ และควรสร้างขวัญกำลังใจและพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้พร้อมก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
3. จากผลการประเมินประเด็นกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุดทั้ง 2 ตัวชี้วัด แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งควรยึดถือปฏิบัติในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นการปฏิบัติตามกิจกรรมของโครงการมีหลายกิจกรรมที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น นักจิตวิทยา แพทย์เฉพาะทาง ในการดูแลช่วยเหลือพัฒนานักเรียนตามสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละคน จึงควรขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกหรือพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือ และติดตามผลในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์
4. จากผลการประเมินประเด็นผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากขึ้นไปทุกตัวชี้วัด นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียน ผู้ปกครอง และครูมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก จึงควรจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะกับความต้องการและสภาพปัญหาของนักเรียน เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียน ผู้ปกครองและครู ให้มากยิ่งขึ้นไป