ชื่อผลงาน การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์) ปีการศึกษา 2563
ผู้ประเมิน นายนฤทธิ์ จันมณี
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์)
ปีการศึกษา 2563
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์) ปีการศึกษา 2563 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตของโครงการ รวมทั้งการได้ทราบถึงปัญหา ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของโครงการ โดยรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครูและผู้ปกครองโรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วยนักเรียนจำนวน 32 คน ครูจำนวน 4 คน และผู้ปกครองจำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการประกอบด้วย แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน แบบสอบถามด้านผลผลิตสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ครู และผู้ปกครองที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์) สถิติที่ใช้ในการวิเคราห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ IOC หาความตรงของเนื้อหาของแบบสอบถาม และสัมประสิทธิ์แอลฟาหาความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม
ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ระดับมากที่สุด ได้แก่ ตัวชี้วัดความสอดคล้องเหมาะสมกับหลักการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายโครงการ ระดับมาก ได้แก่ ตัวชี้วัดการเตรียมการภายในโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งตัวชี้วัดความเหมาะสมเพียงพอของบุคลากร ความเหมาะสมเพียงพอของวัสดุอุปกรณ์ ความเหมาะสมเพียงพอของอาคารสถานที่และความเหมาะสมเพียงพอของงบประมาณ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งตัวชี้วัดการจัดกิจกรรมโครงการและการติดตามโครงการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ระดับมากที่สุด ได้แก่ ตัวชี้วัดพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน ระดับมาก ได้แก่ นิสัยรักการอ่านของนักเรียน ระดับความพึงพอใจของนักเรียน ระดับความพึงพอใจของครูและระดับความพึงพอใจของผู้ปกครอง
ข้อเสนอแนะ
การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์) ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา เนื่องจากการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พฤติกรรมและการดำเนินชีวิต อันจะส่งผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า จากผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านเราะ(อุทัยประชาสรรค์) ปีการศึกษา 2563 จะเห็นได้ว่าควรดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. จากผลการประเมินประเด็นบริบท พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสองตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดความสอดคล้องเหมาะสมกับหลักการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายอยู่ในระดับมากที่สุ และตัวชี้วัดการเตรียมการภายในอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อคำถาม พบว่าอยู่ในระดับมากและมากที่สุด ข้อคำถามที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด คือ หลักการ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกัน และขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการสามารถปฏิบัติได้ ดังนั้นผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบโครงการ ควรร่วมกันกำหนดหลักการ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติสู่ความสำเร็จและควรมีการพิจารณากำหนดขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการให้มีความชัดเจน รัดกุมและสามารถปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น
2. จากผลการประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้าโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งสี่ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าการระดมทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินโครงการ การใช้วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการดำเนินงานโครงการ หนังสือที่ใช้ในการจัดกิจกรรมโครงการ แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนมีความเพียงพอต่อการสนับสนุนกิจกรรมโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนส่งเสริมการจัดกิจกรรมการอ่านและการจัดหาจัดซื้อหนังสือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเหมาะสมเพียงพออยู่ในระดับมาก แต่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ผู้บริหารจึงควรสนับสนุน วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือใหม่ จัดสภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ให้มีความเหมาะสมเพียงพอส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
3. จากผลการประเมินประเด็นกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งสองตัวชี้วัด แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบของครู บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า การจัดห้องสมุดที่มีระบบตามเกณฑ์มาตรฐานห้องสมุดของโรงเรียน การประเมินผลภายหลังการจัดกิจกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมมีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบโครงการควรดำเนินการจัดห้องสมุดให้มีระบบตามเกณฑ์มาตรฐานห้องสมุด และควรประเมินผลภายหลังการจัดกิจกรรมทุกครั้ง พร้อมทั้งนำผลการประเมินมาพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมให้มีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
4. จากผลการประเมินประเด็นผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากและมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่านิสัยรักการอ่านของนักเรียนมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากแต่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำสุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อคำถามพบว่า นักเรียนยืมหนังสือห้องสมุดมากขึ้นและนักเรียนใช้บริการห้องสมุดมากขึ้นอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้เนื่องจากความไม่พร้อมของห้องสมุดและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการอ่าน ผู้บริหารจึงควรวางแผนการใช้งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้มีหนังสือใหม่ๆเร้าความสนใจของนักเรียนให้อยากอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ควรมีการจัดทำแบบสำรวจความต้องการหนังสือใหม่ๆอย่างต่อเนื่องทุกภาคเรียน และควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมจูงใจให้นักเรียนใช้ห้องสมุดในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น เช่น การแนะนำการใช้ห้องสมุด การปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุด การนำชมห้องสมุด จัดสัปดาห์ห้องสมุด เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด ส่วนครูและผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมาก จึงควรจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่องโดยอาจปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของนักเรียน เพื่อให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองมีความ พึงพอใจต่อโครงการมากยิ่งขึ้น