เรื่อง การพัฒนาหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ รายวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
เรื่อง สุภาษิตพระร่วง เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการสื่อสารด้าน
การพูดและการเขียน โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน ประจำปี 2563
ผู้ศึกษา นางภรณ์ณภัส จำปาทอง
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ รายวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่อง สุภาษิตพระร่วง ให้เป็นหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการสาระการเรียนรู้ ทั้ง 5 สาระ โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ เรื่อง สุภาษิตพระร่วง โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน 3) เพื่อศึกษาความสามารถด้านทักษะการสื่อสารด้านการพูดและการเขียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ เรื่อง สุภาษิตพระร่วง โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง สุภาษิตพระร่วง โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนลานทรายพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 57 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย (1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ รายวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง สุภาษิตพระร่วง จำนวน 14 แผน ได้แก่ 1) คำศัพท์แสนสนุก 2) ความหมายโดยนัย 3) ความหมายโดยตรง 4) แต่งร่ายง่ายนิดเดียว 5) แต่งนิทานข้อคิดสะเทือนใจ 6) เพื่อนอ่านฉันเล่า 7) คำประสม คำซ้อน 8) คำประสม คำซ้อน (ต่อ) 9) ฟังเขาเล่า เราสนุก 10) ฟังเขาเล่า เราได้คิด 11) การเขียนบรรยายประสบการณ์ 12) น้ำเสียง ภาษากาย อายคอนแทค 13) เตรียมพร้อมก่อนชนะก่อน และ 14) การเล่าเรื่องจากประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ (2) คู่มือการใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง สุภาษิตพระร่วง (3) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง สุภาษิตพระร่วง เป็นข้อสอบชุดเดียวกันแต่สลับข้อกัน จำนวน 40 ข้อ (4) แบบประเมินตามสภาพจริง ทักษะการสื่อสารด้านการพูดและด้านการเขียน หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง สุภาษิตพระร่วง (4) แบบสอบถามความพึงพอใจในการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน ที่เรียนหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง สุภาษิตพระร่วง จำนวน 1 ฉบับ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean), ค่าร้อยละของค่าเฉลี่ย (Percentage) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation), การทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยการทดสอบค่า t - test แบบกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระจากกัน (Dependent Samples),
ผลการศึกษาพบว่า
1. หน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ รายวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้
วิธีการสอนแบบผสมผสาน เรื่อง สุภาษิตพระร่วง มีลักษณะเป็นการบูรณาการภายในกลุ่มสาระฯ โดยใช้วรรณคดีเป็นฐาน โดยจัดแบ่งเนื้อหาเป็นเป็น 3 ตอนย่อย ในแต่ละตอนมีการบูรณาการเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ดังนี้ ตอนที่ (1) วรรณคดี เรื่อง สุภาษิตพระร่วง มีการบูรณาการแบบสัมพันธ์สาระการเรียนรู้ทุกสาระในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ ได้แก่ เกมบิงโกขานคำ สื่อเพาเวอร์พอยน์ และ สื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ตอนที่ (2) สาระหลักและการใช้ภาษา เรื่อง คำประสม คำซ้อน มีการบูรณาการทุกสาระการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ ได้แก่ เกมบิงโกขานคำ บทเรียนสำเร็จรูป หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) และ ตอนที่ (3) ด้านทักษะการสื่อสาร มีการบูรณาการด้านทักษะการสื่อสาร 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะการฟังทักษะการพูด ทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน โดยใช้สื่อ คลิปวีดีโอ รายการ เดี่ยวดวลไมค์ไทยแลนด์ ร่วมกับ การโค้ชชิ่ง ซึ่งการออกแบบหน่วยจัดการเรียนรู้ได้ออกแบบให้มีความครอบคลุม ทั้งทางด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง โดยมีการฝึกปฎิบัติพูดเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์หน้าชั้นเรียนด้วยบทพูดบรรยายประสบการณ์ที่ผู้เรียนเขียนขึ้นเอง ซึ่งองค์ประกอบในแผนการจัดการเรียนรู้มีโครงสร้าง ดังนี้ 1. ส่วนนำ ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางฯ 2) การวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษา 3) คำอธิบายรายวิชาและการวิเคราะห์หน่วยการเรียนรู้ 4) กำหนดวันเวลาและชั่วโมงสอน 2. ส่วนแผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด 2) สาระการเรียนรู้แกนกลาง 3) จุดประสงค์การเรียนรู้สู่ตัวชี้วัด 4) สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5) กิจกรรมการเรียนรู้ 6) สื่อการเรียนรู้ 7) การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ 8) ความเห็นและข้อเสนอแนะของหัวหน้าฝ่ายวิชาการ 9) ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้บริหารสถานศึกษา และ 10) บันทึกหลังสอน ซึ่งในขั้นตอนกิจกรรมการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2. ขั้นสอน ได้แก่ (1) ขั้นทบทวนความรู้เดิม (2) ขั้นความรู้ใหม่ (3) ขั้นอภิปรายและนำไปใช้ และ 3. ขั้นสรุป และใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน เช่น ใช้วิธีการเรียนรู้แบบสมองเป็นฐาน (BBL) แบบร่วมมือ แบบเกมแข่งขัน การโค้ชชิ่ง ตามแนวทางการเรียนรู้แบบ Active Learning ตลอดหน่วยการเรียนรู้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของผู้เรียนที่เรียนหน่วยการเรียนรู้
เรื่อง สุภาษิตพระร่วง มีความแตกต่างกัน โดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการศึกษาความสามารถด้านทักษะการสื่อสารด้านการพูดและการเขียน โดย
วิธีการวัดผลและประเมินผลตามสภาพจริงพบว่า นักเรียนมีทักษะด้านการพูดอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ26.32 ระดับดี ร้อยละ 63.16 ระดับ พอใช้ ร้อยละ 10.52 ด้านการเขียนระดับดีมาก ร้อยละ 35.09 ระดับดี ร้อยละ 26.32 ระดับพอใช้ 28.07 และไม่ผ่าน ร้อยละ 10.51
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนเรื่อง สุภาษิตพระร่วง โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยโดยรวม เท่ากับ 4.57 อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.62
ข้อเสนอแนะ
1. การออกแบบหน่วยการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยให้เป็นแบบบูรณาการ โดยใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เนื่องจากสามารถใช้พัฒนานักเรียนได้ครบทุกด้าน ทั้งด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย รวมถึงครบทั้งด้านวรรณคดี หลักภาษา และ การใช้ภาษา ซึ่งภาษาไทยเป็นภาษาที่มีทั้งเนื้อหาและทักษะที่ผู้เรียนจะต้องได้รับทั้งความรู้และได้รับการฝึกปฏิบัติ
2. ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยควรจัดกิจกรรมให้มีการฝึกพูดและฝึกเขียนในทุกชั้นปี เพราะการจัดกิจกรรมให้นักเรียนฝึกพูด เป็นการฝึกให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ แล้วนำเรียบเรียงเป็นบทเขียนก่อนพูด ทำให้นักเรียนเข้าใจโครงสร้างของการเขียนและการพูดไปในตัว ครูควรใช้คำถามตามหลักการโค้ชชิ่งเพื่อให้นักเรียนได้เกิดความรู้และความคิดและความเข้าใจบทเรียนที่ถูกต้อง และควรเสริมแรงทางบวกเพียงด้านเดียวก่อนในการฝึกพูด ไม่ตำหนิให้เสียใจ เพื่อสร้างให้นักเรียนเกิดความกล้าและรู้สึกว่ามีคุณค่าเกิดความความภาคภูมิใจในตนเองในเวลาต่อมา ซึ่งความภาคภูมิใจในตนเองนี้เองเป็นบ่อเกิดความเชื่อมั่นและความเป็นผู้นำในที่สุด
3. นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ดี คือ นวัตกรรมที่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้มากกว่า 1 ด้านและนวัตกรรมที่ดีที่สุดคือนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ครบทุกด้านตามธรรมชาติวิชาของกลุ่มสาระฯ นั้นๆ และครอบคลุมทั้งด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัยไปพร้อม ๆ กัน