บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อรายงานการบริหารโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อศึกษาผลการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 3) เพื่อศึกษาพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง ในการบริหารโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน โรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2563 รวมทั้งสิ้น จำนวน 146 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านตุงติง ต่อสภาพการบริหารโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง แบบวัดพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ต่อการบริหารโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการศึกษาพบว่า
1. การดำเนินงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านตุงติง อำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้รายงานได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ ตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (PDCA) เป็นผลให้ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความรู้ความเข้าใจ และรับรู้ถึงเป้าหมายการดำเนินงานร่วมกันเกี่ยวกับการโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านตุงติง มีแผนการดำเนินโครงการที่ชัดเจน การดำเนินโครงการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในโรงเรียนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ มีการประเมินผลในทุกระยะ และนำผลจากการประเมินมาสะท้อนผล เพื่อพัฒนาปรับปรุงการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิผลที่สูงขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในโรงเรียนและกลุ่มเครือข่าย เพื่อขยายผลการดำเนินงาน ส่งผลให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
2. ผลการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านตุงติง อำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตามแนวทางการส่งเสริมการอ่าน 6 ด้าน พบว่า ในภาพรวม มีผลการดำเนินงานหรือผลการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ปรากฏว่า ผลการดำเนินงานหรือผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการอ่าน ด้านการสร้างขวัญและการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรด้านการส่งเสริมการอ่าน ด้านการกำกับ ติดตามและประเมินผลการส่งเสริมการอ่าน ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมการอ่าน ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และด้านนโยบายและกลยุทธ์ การส่งเสริมการอ่าน
3. ผลการศึกษาพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ภาพรวมมีผลการดำเนินงานหรือ ผลการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีผลการดำเนินงาน/ผลการปฏิบัติ อยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงเป็นสามอันดับแรก ได้แก่ ข้าพเจ้าคิดว่าการอ่านหนังสือมากๆ ช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น รองลงมาคือ ข้าพเจ้าจะอ่านหนังสือโดยที่ไม่มีผู้ใดสั่งให้อ่าน และข้าพเจ้าชอบยืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่านที่บ้าน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ข้าพเจ้าต้องการให้โรงเรียนจัดกิจกรรมรักการอ่านเป็นประจำ
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนโรงเรียนบ้านตุงติง ต่อการบริหารโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านตุงติง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยรวมอยู่ ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า อยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดใน สามอันดับแรก ได้แก่ การจัดกิจกรรมรักการอ่านมีความสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน รองลงมาคือ สถานที่ในการจัดกิจกรรมรักการอ่านมีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และระยะเวลาในการจัดกิจกรรมรักการอ่านมีความเหมาะสม ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ โครงการ/กิจกรรมรักการอ่านเอื้อต่อการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถของนักเรียน
ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้
1. ควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการจัดกิจกรรม
2. ควรมีการบูรณาการกิจกรรมกับการเรียนการสอนของครู
3. ควรมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อความร่วมมือในการจัดกิจกรรมและสนับสนุนงบประมาณ
ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาครั้งต่อไป
1. ศึกษาการบูรณาการการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านกับกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู
2. ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนที่สถานศึกษาตั้งอยู่ อันเนื่องมาจากโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ที่จัดโดยสถานศึกษา