บทคัดย่อ
ชื่อเรื่องวิจัย : การเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์
KONDEE MODEL โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม ปีการศึกษา 2561-2562
ชื่อผู้วิจัย : นางฉวีวรรณ รักษ์แก้ว
ปีการศึกษา : 2561-2562
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KONDEE MODEL โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม ปีการศึกษา 2561-2562 2) เพื่อศึกษาคุณลักษณะความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 3) เพื่อศึกษาผลการพัฒนามาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานที่ 1 ตัวบ่งชี้ที่ 1.2 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน หลังการพัฒนาปีการศึกษา 2561-2562 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายชุมชนที่มีต่อการเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KONDEE MODEL โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนปีการศึกษา 2561 จำนวน 196 คน และปีการศึกษา 2562 จำนวน 181 คน ประชากรครู ปีการศึกษา 2561 และ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 42 คน กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2561 จำนวน 196 คน และ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 181 คน กลุ่มตัวอย่างคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 13 คน และกลุ่มตัวอย่างเครือข่ายชุมชน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่นระหว่าง 0.97-0.98 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS version 18
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพการเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โดยใช้ กลยุทธ์ KONDEE MODEL โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2561-2562 พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมทั้งสี่กลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพปานกลาง
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมทั้งสี่กลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพมากที่สุดสอดคล้องตามสมมติฐาน
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพคุณลักษณะความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โรงเรียน หาดสำราญวิทยาคม ตามความคิดเห็นของครู และผู้ปกครอง หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพปานกลาง
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพมากที่สุดสอดคล้องตามสมมติฐาน
3. มาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานที่ 1 ตัวบ่งชี้ที่ 1.2 คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561 -2562
ผลการประเมินมาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานที่ 1 ตัวบ่งชี้ที่ 1.2 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียน หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561 คุณภาพการจัดการศึกษา อยู่ในระดับดีขึ้นไป ร้อยละ 95.28 ปีการศึกษา 2562 คุณภาพการจัดการศึกษา อยู่ในระดับดีขึ้นไป ร้อยละ 99.50 ซึ่งสอดคล้องตามสมมติฐาน
4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายชุมชนในการเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KONDEE MODEL โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561 -2562
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพปานกลาง
ปีการศึกษา 2562 หลังการพัฒนาโดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพมากที่สุดสอดคล้องตามสมมติฐาน
ข้อเสนอแนะ
จากการวิจัยการเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KONDEE MODEL โรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม ปีการศึกษา 2561-2562 ครั้งนี้ทำให้ได้ค้นพบจุดเด่นของการเสริมสร้างความมีวินัยซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการพัฒนาความมีวินัยในตนเองของนักเรียนต่อไป
1. ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้
1.1 K : Knowledge กระบวนการสร้างองค์ความรู้ให้นักเรียนได้เกิดความตระหนักและปฏิบัติในความมีวินัยในตนเองตามจุดเน้น 5 จุดเน้น และตัวบ่งชี้ที่โรงเรียนกำหนด โรงเรียนควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังความมีวินัยในตนเองของนักเรียน สามารถประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียนและสังคม สามารถควบคุมดูแลตนเอง และสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ส่งผลให้โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมต่างๆได้ด้วยความสงบเรียบร้อย นักเรียนก็สามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างราบรื่น ไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวาย อันเกิดมาจกความขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ ยิ่งไปกว่านั้นโรงเรียนสามารถปลูกฝังให้นักเรียนสามารถปฏิบัติตนในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม ส่งผลให้นักเรียนเจริญเติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป
1.2 O : Organization การจัดระบบในองค์การ และมอบหมายงานให้บุคลากรปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพ โรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความสามารถช่วยให้นักเรียนพัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคม ครูเป็นผู้ที่ให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน และนักเรียนส่วนมากจะมีครูเป็นแบบอย่าง ทำให้นักเรียนยอมรับค่านิยมและอุดมการณ์ของครูที่นักเรียนยึดเป็นแบบอย่าง และปฏิบัติตามไปตลอด
1.3 N : Network การมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียน ได้แก่ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายผู้นำท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนควรสร้างภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียน คอยดูแล เลี้ยงดู และเฝ้าสังเกตพฤติกรรม และเป็นต้นแบบให้กับนักเรียนได้ อีกทั้งควรส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม หน่วยงานต่างๆในสังคมเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมความมีวินัยในตนเองอย่างทั่วถึง ดังนั้นการที่นักเรียนมีผู้ปกครองหรือเพื่อนที่แสดงพฤติกรรมความมีวินัยอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้นักเรียนมีแบบอย่างของการแสดงพฤติกรรมประกอบกับโรงเรียนให้ความสำคัญ ทำให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองอย่างต่อเนื่อง ครูและบุคลากรในโรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดี บรรยากาศต่างๆในโรงเรียนเอื้อต่อการเลียนแบบในการแสดงพฤติกรรมทำให้นักเรียนซึมซับสิ่งที่ดีมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์
1.4 D : Design จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความมีระเบียบวินัยด้านต่างๆ เช่น ด้านความซื่อสัตย์ ด้านการตรงต่อเวลา ด้านความรับผิดชอบ ด้านการเคารพกฎระเบียบของสังคม และด้านความ จิตอาสา โรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่หลากหลาย สร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียน เช่น การมอบเกียรติบัตร ทุนการศึกษาหรือรางวัลอื่นๆ แก่นักเรียนที่มีพฤติกรรมทางด้านการมีวินัยในตนเอง มีการกำหนดมาตรการในการส่งเสริมความมีวินัย เช่น กำหนดบทลงโทษนักเรียนที่ไม่เข้าเรียน โดยอาจให้นักเรียนมีส่วนร่วม ในการกำหนดมาตรการ ให้ความสำคัญกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพราะเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เช่น กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน กิจกรรมแนะแนว เป็นต้น และมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และส่งเสริมระเบียบวินัย เช่น การเข้าค่ายพักแรมคุณธรรม กิจกรรมวันสำคัญต่างๆ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น
1.5 E: Environment สภาพแวดล้อม น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน ส่งเสริมการพัฒนาวินัยนักเรียน ทั้งในห้องเรียน และบริเวณโรงเรียน โรงเรียนควรจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สื่อต้นแบบที่สำคัญทั้งภายในและนอกโรงเรียน หรือถ้าหากนักเรียนอยู่ในชุมชนที่มีระบบการจัดการที่ดีมีแบบอย่างทางพฤติกรรมที่เหมาะสม และมีกิจกรรมที่กระตุ้นหรือส่งเสริมเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของชุมชนด้วยแล้วจะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีจิตอาสา คิดเพื่อส่วนรวม และชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญก้าวหน้า และสร้างสำนึกรัก บ้านเกิด ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
1.6 E : Evaluation การประเมินผลการปฏิบัติงาน โรงเรียนควรมีการตรวจสอบพฤติกรรมที่สะท้อนความมีวินัยในตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแนวโน้มความยั่งยืนหรือความคงทนของความมีวินัยในตนเองของนักเรียน และทบทวนกิจกรรมต่างๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของโรงเรียน
2. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียนอย่างยั่งยืน
2.2 ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความมีวินัยในตนเองของนักเรียนกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน บ้าน และชุมชนที่นักเรียนอาศัย