รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่าน มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1)ประเมินด้านบริบท เกี่ยวกับความต้องการ ความจำเป็น ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ และความชัดเจนของเป้าหมายของโครงการ 2) ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า เกี่ยวกับความพร้อมของสถานศึกษา ความเหมาะสมของงบประมาณ ความเหมาะสมของกิจกรรมโครงการ 3) ประเมินกระบวนการ เกี่ยวกับ กระบวนการวางแผน การดำเนินการ และการนิเทศติดตามและการประเมินผลของโครงการ 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เกี่ยวกับ 4.1) พฤติกรรมและความสามารถด้านการอ่านของนักเรียน 4.2) ความพึงพอใจของ ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้บริหารและครูจำนวน 6 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 26 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 22 คน รวมทั้งสิ้น 61 คน
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ด้านบริบท ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.70) ข้อที่มีค่าสูงสุด คือ ข้อ 5 โครงการมีความจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.92) ข้อที่มีค่าต่ำสุดคือข้อ 4 โครงการมีความจำเป็นต่อการพัฒนาด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม อยู่ในระดับมาก ( x̄= 4.38)
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.54) ข้อที่มีค่าสูงสุด คือ ข้อ 13 กิจกรรมเขียนตามคำบอก อ่านคำศัพท์ใหม่ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมาย โครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.76) ข้อที่มีค่าต่ำสุดคือข้อ 3 โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ในการสนับสนุนการดำเนินงาน อยู่ในระดับมาก ( x̄= 4.23)
3. ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.49) ข้อที่มีค่าสูงสุดโดยอยู่ในระดับมากที่สุดคือ ข้อ 19 มีปฏิทิน คู่มือแนวทางนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ ที่เป็นรูปธรรม อยู่ในระดับมากที่สุด( x̄= 4.85) ข้อที่มีค่าต่ำสุดคือข้อ 2 มีการวิเคราะห์และวางระบบบริหารโครงการอย่างชัดเจน อยู่ในระดับมาก ( x̄ = 3.62)
4. ด้านผลผลิต เกี่ยวกับพฤติกรรมและความสามารถในการอ่านของนักเรียน ตามความคิดเห็นของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.60) ข้อที่มีค่าสูงสุดคือข้อ 14 นักเรียนสามารถอ่านคำศัพท์พื้นฐานในบทเรียนได้ อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ x̄= 4.73) ข้อที่มีค่าต่ำสุด คือข้อ 2 นักเรียนมีความสนใจในการอ่านเพิ่มขึ้น อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.41)
5. ด้านผลผลิต เกี่ยวกับความพึงพอใจจากการดำเนินโครงการส่งเสริมการอ่านโรงเรียนบ้านทรายแก้ว ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองพบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.60) ข้อที่มีค่าสูงสุดคือข้อ 5 การมีส่วนร่วมของนักเรียน ( x̄= 4.86) ข้อที่มีค่าต่ำสุด คือข้อ 7 การมีส่วนร่วมของหน่วยงานอื่น (x̄ = 3.79)
6. ด้านผลผลิต เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อโครงการส่งเสริมการอ่านโรงเรียนบ้านทรายแก้ว ตามความคิดเห็นของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.67) ข้อที่มีค่าสูงสุดคือข้อ 5 การมีส่วนร่วมของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.96) ข้อที่มีค่าต่ำสุด คือข้อ 1 ปริมาณของกิจกรรมโครงการเหมาะสมไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป อยู่ในระดับมาก ( x̄= 3.92)