บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมศักยภาพทักษะพื้นฐานผู้เรียนระดับปฐมวัยโรงเรียนวัดปราโมทย์(พิศสะอาดราษฎร์อำรุง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม
ปีการศึกษา 2562 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการ 4 ด้าน คือ ประเมินด้านปัจจัยพื้นฐาน (Input) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) ด้านผลผลิต (Output) และประเมินด้านผลลัพธ์ (Outcomes) ของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมิน IPOO ของ พิสณุ ฟองสี มาเป็นรูปแบบในการประเมิน ประชากรที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนวัดปราโมทย์(พิศสะอาดราษฎร์อำรุง) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2562รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการจำนวน 5 ฉบับ และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านปัจจัยพื้นฐาน (Input) พบว่า ระดับความเหมาะสม/พอเพียง ภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในรายด้าน โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับได้แก่ ความเหมาะสมของรูปแบบการจัดกิจกรรมมีความเหมาะสม/พอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุดรองลงมาคือ ความพร้อมของบุคลากร อยู่ในระดับมากที่สุด และความพอเพียงของทรัพยากร วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่ อยู่ในระดับมาก ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ความพอเพียงของงบประมาณ อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) พบว่า ระดับการปฏิบัติ ภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาในรายด้าน โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับได้แก่ การปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานและรายงานผลมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก รองลงมาคือ การดำเนินกิจกรรมตามแผนอยู่ในระดับมากและกระบวนการวางแผนกำหนดงาน/ปฏิทินปฏิบัติงาน อยู่ในระดับมาก ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ การกำกับนิเทศติดตามประเมินผลกิจกรรม อยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Output) พบว่า ภาพรวมระดับความสำเร็จ อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านทักษะในการดำรงชีวิตประจำวัน ภาพรวมระดับความสำเร็จ อยู่ในระดับมากที่สุด และด้านเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภาพรวมของระดับความสำเร็จ อยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินด้านพัฒนาการ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย พบว่า นักเรียนชั้นอนุบาล 2 และนักเรียนชั้นอนุบาล 3 จำนวน 23 คน มีผลการประเมินด้านร่างกาย ระดับคุณภาพ 3(ดีมาก) ด้านอารมณ์ ระดับคุณภาพ 3(ดีมาก) ด้านสังคม ระดับคุณภาพ 3(ดีมาก) และด้านสติปัญญา ระดับคุณภาพ 3(ดีมาก)
4. ผลการประเมินด้านผลลัพธ์ (Outcomes) พบว่า ผลการประเมินระดับความพึงพอใจ ตามความคิดเห็นของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ ได้แก่ กิจกรรมส่งผลให้เกิดความร่วมมือร่วมใจที่ดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน และกลุ่มเครือข่ายทางการศึกษาในการพัฒนาการศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ กิจกรรมโครงการส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ อยู่ในระดับมากที่สุดและ โรงเรียนได้รับรางวัลและเกียรติบัตรจากหน่วยงานต้นสังกัด อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ กิจกรรมโครงการส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ อยู่ในระดับมาก